ทำไมบริกรโรงเตี๊ยมของจีนในสมัยโบราณจึงเรียกว่า “เสี่ยวเอ้อร์” (小二)?
เรื่องโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา
——“เสี่ยวเอ้อร์” (小二) หมายถึง บริกรเพศชายตามโรงเตี๊ยม โรงน้ำชา หรือศาลาพักม้า
——โดยรูปศัพท์ คำว่า “เสี่ยวเอ้อร์ จะแปลว่า “ลำดับที่สอง” ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับบริกรเลย แต่การเรียกขานเช่นนี้ก็เนื่องมาแต่จีนสมัยโบราณ การเรียกชื่อเสียงเรียงนามจะมีใช้กันก็แต่ในหมู่ขุนนางและชนชั้นสูงที่มีการศึกษาเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960–1279) หยวน (元 ค.ศ. 1271–1368) และหมิง (明 ค.ศ. 1368–1644) ตอนต้น จึงนิยมใช้ตัวเลขในการเรียกขานแทนชื่อ บ้างก็ใช้ลำดับอาวุโสนับว่าเป็นอันดับที่เท่าไรในครอบครัว บ้างก็ใช้อายุของบิดามารดามารวมกัน เป็นต้น
——บริกรตามโรงเตี๊ยมจีนสมัยโบราณซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา จึงได้รับการเรียกขานโดยใช้ตัวเลขว่า “เตี้ยนเสี่ยวเอ้อร์” (店小二 ) ซึ่งแปลว่า “อันดับสองของร้าน” เพราะเมื่อลำดับกันไป ผู้ที่เป็นอันดับหนึ่งของร้านก็ย่อมต้องเป็น “เตี้ยนเหล่าต้า” (店老大) หรือเจ้าของร้านแน่นอนโดยปริยายอยู่แล้ว