ตงฟางซั่ว ขุนนางตัวตลก
ในรัชสมัยแห่งยุคจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้
ตงฟางซั่ว
เรื่องโดย เจินจู
ในประวัติศาสตร์จีนมีบุรุษเรืองนามหลายคนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความรู้ความสามารถ และถวายงานอย่างรู้ใจจนกลายเป็นขุนนางคนโปรดขององค์จักรพรรดิ หนึ่งในนั้นคือ ตงฟางซั่ว (東方朔ประมาณ 154 – 93 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ขุนนางผู้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘บุคคลสุดพิสดารในประวัติศาสตร์จีน’
ตงฟางซั่ว เป็นขุนนางนักปราชญ์คนสนิทของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (漢武帝156-87 ปีก่อนคริสต์ศักราช)แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ.8) พระองค์โปรดตงฟางซั่วตรงที่มีความเฉลียวฉลาดและความคิดหลักแหลม ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้เขา แต่ให้อยู่ใกล้พระองค์ไว้ เสมือนตงฟางซั่วเป็นแค่ตัวตลก ผู้คอยมอบความบันเทิงเท่านั้น ส่วนตงฟางซั่วก็ดูเหมือนไม่ได้ใส่ใจว่าตนจะต้องทำงานยิ่งใหญ่หรือมีบทบาทสำคัญ จึงแสดงกิริยาวาจาโอหัง ประพฤติตนนอกรีตนอกรอย บางครั้งทำตามอำเภอใจจนดูไร้มารยาทแม้อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ ขุนนางคนอื่นๆ เห็นแล้วก็ได้แต่เอือมระอากับการกระทำที่ดูโง่เขลาและไร้สาระเหล่านั้น แต่ไม่กล้าปริปากเพราะตงฟางซั่วมีองค์จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนอยู่ พระองค์มิเพียงไม่ว่ากล่าว แต่ยังปูนบําเหน็จ หรือรางวัลแก่ตงฟางซั่วเป็นประจำ ตงฟางซั่วจึงยังคงรักษาฐานะหรือตำแหน่งหน้าที่ของตนไว้ได้ในราชสำนักซึ่งเต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ
ชาวจีนรุ่นหลังรู้จักตงฟางซั่วผ่านหนังสือประวัติศาสตร์สองเล่มหลัก หนึ่งคือ “บันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้ ” (史記) ซึ่งซือหม่าเชียน (司馬遷ประมาณ 145 – 90 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ขุนนางราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเป็นผู้บันทึกเรื่องราวของตงฟางซั่วเอาไว้ในหมวดชีวประวัติตัวตลก (史記.滑稽列傳) อีกเล่มคือ “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น” (漢書) หรือเรียกอีกชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นฉบับหลวง” แต่งโดยปานกู้ (班固ค.ศ.32 – ค.ศ.92) บัณฑิตยุคหลังที่เรียบเรียงเรื่องราวของตงฟางซั่วอย่างละเอียดและตั้งชื่อว่าชีวประวัติตงฟางซั่ว (東方朔傳) พฤติการณ์ต่างๆ ของตงฟางซั่วจึงเป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลาย จนเขากลายเป็นบุคคลสำคัญในตำนานของศาสตร์หลายแขนง เช่น ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์
ในบริบทของคติชาวบ้าน ตงฟางซั่วยังได้รับการยกย่องและบูชาจากคนรุ่นต่อมาในฐานะผู้บุกเบิกอาชีพที่ต้องใช้ศาสตร์ต่างๆ แบบผสมผสาน เช่น ศิลปะการแสดงซึ่งอาศัยน้ำเสียง การแสดงมายากล หมอดู ฯลฯ บ้างก็เรียกเขาว่า หมอดูเทวดา ยอดตัวตลก หรือนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ แม้กระทั่งจอมมิจฉาชีพก็มีคนเรียก
เกียรติประวัติของตงฟางซั่ว เขามีชื่อรองว่า ม่านเฉี้ยน (曼倩) เป็นชาวเมืองผิงหยวน (平原อำเภอฮุ่ยหมิน มณฑลซานตงในปัจจุบัน) เกิดในครอบครัวคนสามัญ กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก อาศัยอยู่กับพี่ชายและพี่สะใภ้ จนถึงช่วงที่จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงขึ้นครองราชสมบัติและประกาศรับสมัครบัณฑิตมีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรมจากทั่วสารทิศ บัณฑิตจากทั่วแผ่นดินจึงพากันเขียนจดหมายมาสมัคร ตงฟางซั่วก็ร่วมเขียนจดหมายแนะนำตนเองถึงจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นด้วย โดยมีใจความสำคัญดังนี้
“ข้าพระองค์สูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก พี่ชายและพี่สะใภ้จึงรับเลี้ยงดูข้าฯ ไว้ ข้าฯอ่านหนังสือได้เมื่ออายุสิบสามปี ตั้งใจเรียนขยันหมั่นเพียร หนังสือวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ที่ข้าฯ อ่านมาสามฤดูหนาวก็เพียงพอแก่การใช้งานแล้ว เมื่อข้าฯ อายุ 15 ขวบ ได้เรียนการฟันดาบ อายุสิบหกเรียน “คัมภีร์ซือจิง “(詩經)และ “คัมภีร์ซูจิง“(書經) ท่องอ่านคำศัพท์ได้ทั้งหมด 220,000 คำ เมื่ออายุได้ 19 ปี ได้เรียนรู้ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่และการจัดกระบวนทัพในเวลาออกรบ รู้จักวิธีใช้อาวุธต่างๆ รวมทั้งตีกลองรบที่ทหารใช้เพื่อให้สัญญาณรุกและถอยทัพ และตำรานี้ก็อ่านไปแล้ว 220,000 คำ รวมเป็น 440,000 คำ ปัจจุบันข้าฯ อายุยี่สิบปี สูงเก้าฟุตสามนิ้ว ดวงตาสดใสมีชีวิตชีวาและเป็นประกายเสมือนลูกปัดสว่าง ฟันขาวและเป็นระเบียบเสมือนเปลือกหอยที่เรียงราย กล้าหาญและมีกำลังมหาศาลเหมือนเมิ่งเปิน (孟贲ผู้กล้านามกระเดื่องแห่งยุคราชวงศ์โจว) คล่องแคล่วเหมือนชิ่งจี้ (慶忌เทพวารินทร์เก่งกาจด้วยความว่องไวตามเทพนิยายจีน มีที่มาจากดวงวิญญาณขององค์ชายแห่งรัฐอู๋กลายเป็นเทพแห่งน้ำหลังความตาย) ซื่อสัตย์และสุจริตเหมือนเป้าซูหยา (鮑叔牙 ขุนนางรัฐฉีแห่งยุคชุนชิว) มีคุณธรรม จริยธรรม และรักษาสัจจะเหมือนเหว่ยเซิง (尾生บุคคลที่ปรากฏในนิทานซึ่งจวงจื่อนักปราชญ์จีนแต่งขึ้น) ข้าฯ เป็นคนเยี่ยมยอดเช่นนี้ ย่อมมีความสามารถเพียงพอแก่การเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของจักรพรรดิได้”
ฮั่นอู่ตี้
เดิมทีตงฟางซั่วคิดว่า เมื่อเขาเดินทางมาถึงสำนักพาหนะหลวง (公車署)[1]จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้จะรับสั่งให้เข้าเฝ้าโดยเร็ว แต่เขารออยู่นานก็ยังไม่มีเค้าว่าจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้จะมีรับสั่งเลย เขารู้เพียงว่าตนผ่านการคัดเลือกให้เข้าถวายงาน และได้เงินเดือนเพียงเล็กน้อย แต่ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงถูกเพิกเฉยเช่นนี้ เขาเริ่มคิดว่า “เป็นไปได้หรือไม่ว่าฮ่องเต้ลืมข้าโดยสิ้นเชิงเสียแล้ว? จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ ข้าต้องคิดหาวิธีเข้าพบฮ่องเต้โดยเร็วถึงจะถูกต้อง”
อยู่มาวันหนึ่ง เขาเห็นคนแคระคอยปรนนิบัติข้างพระวรกายจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ จึงวางแผนเข้าไปโกหกคนแคระว่า “คนเช่นพวกท่านทั้งหลายทำการเกษตรก็ไม่เป็น เป็นข้าราชการก็ไม่ได้ นำทัพสู้ศึกสงครามยังไม่ได้อีก ช่างไร้ประโยชน์แก่ประเทศเสียจริง ว่ากันว่าจักรพรรดิจะประหารชีวิตพวกท่านทิ้งทั้งหมด”
คนแคระตกใจจนร้องไห้ ตงฟางซั่วก็ปลอบพวกเขาว่า “มิต้องกลัวหรอก สมมติว่าบังเอิญเจอฮ่องเต้เข้า ก็ให้ทำเพียงแค่ขอความเมตตาจากพระองค์”
ต่อมาเหล่าคนแคระก็คร่ำครวญขอความเมตตาต่อหน้าจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ จักรพรรดิทรงพิศวงยิ่งนักจึงตรัสถามว่าผู้ใดเป็นคนพูด คนแคระกราบทูลว่า ตงฟางซั่ว จักรพรรดิอู่จึงรับสั่งให้ตงฟางซั่วเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่า “เหตุใดท่านถึงขมขู่คนแคระ?”
ตงฟางซั่วกราบทูลว่า “คนแคระสูงเพียงสามฟุต ได้เงินเดือนเป็นข้าวหนึ่งกระสอบ ส่วนข้าพระองค์สูงเก้าฟุตกว่า แต่กลับได้เงินเดือนเท่าพวกเขา คนแคระมีอาหารกินเหลือเฟือ แต่ข้าฯ กลับหิวโหย หากคิดว่าข้าฯ ยังมีประโยชน์อยู่ ก็อย่าปฏิบัติต่อข้าฯ เช่นนี้เลย แต่หากข้าฯ ไร้ประโยชน์ ก็ขอให้ปลดข้าฯ ออกจากตำแหน่ง อย่าให้ข้าฯ ต้องนั่งกินนอนกินอยู่บนราชสมบัติของท่านเลย”
จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะและรับสั่งให้ตงฟางซั่วมาถวายงานที่สำนักจินหม่าเหมิน (金馬門) [2]
ตั้งแต่นั้นมาตงฟางซั่วก็มีโอกาสเข้าเฝ้าจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งคราว ครั้งหนึ่งจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้โปรดซุกสิ่งของไว้ใต้กระโถนและให้ขุนนางทายเพื่อสร้างความสนุกสนาน แต่ไม่มีขุนนางใหญ่คนใดทายถูกเลย ตงฟางซั่วจึงถวายบังคมและกราบทูลอาสาว่า “ข้าพระองค์เชี่ยวชาญคัมภีร์อี้จิง เป็นไปได้หรือไม่หากข้าจักขอทาย” จากนั้นตงฟางซั่วก็วางสัญลักษณ์ต่างๆ และทำเป็นขบคิดเพื่อไขปริศนาอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนเฉลยว่า “หากมังกรไร้เขาหรืองูไร้ขา มันก็คงเป็นตุ๊กแกหรือไม่ก็จิ้งจก”
เมื่อจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงเห็นว่าตงฟางซั่วตอบถูก จึงพระราชทานรางวัลเป็นผ้าไหมสิบพับทันที และในการเล่นครั้งต่อๆมา ตงฟางซั่วก็สามารถทายได้ถูกอีก จนจักรพรรดิทรงแปลกพระทัยและชื่นชมยกย่องเขาเป็นอันมาก
เกียรติประวัติของตงฟางซั่วได้รับการบันทึกในฐานะ “นักวรรณคดีชื่อดังแห่งยุคฮั่นตะวันตก” (西漢著名文學家) เขาสร้างสรรค์ผลงานกาพย์กลอนไว้มากมาย โดยเน้นเนื้อหาว่าด้วยการบริหารปกครองบ้านเมือง ดังที่ปรากฏรวบรวมในหนังสือเรื่อง “รวมบทนิพนธ์ขุนนางตงฟาง” (東方太中集) และ ” รวมบทนิพนธ์ 103 ดวงประทีปแห่งยุคหกสมัยราชวงศ์ฮั่นเว่ย” (漢魏六朝百三家集) ซึ่งรวบรวมขึ้นในยุคราชวงศ์หมิง (明ค.ศ. 1368- ค.ศ.1644)ตงฟางซั่วยังประพันธ์เรื่อง “ต๋าเค่อหนาน” (答客難) ด้วยรูปแบบแปลกใหม่ที่รังสรรค์ขึ้นจากความเชี่ยวชาญบทร้อยกรองประเภทฟู่(賦) เนื้อเรื่องเป็นบทสนทนา (การโต้คารม) ระหว่างตงฟางซั่วกับพวกที่ชอบใส่ร้ายและเยาะเย้ยเขาเพียงเพราะเป็นข้าราชบริพารผู้ต่ำต้อย อีกทั้งยังสอดแทรกความคิดด้านการปกครองในเรื่องของความยุติธรรมด้วยวาจาอันคมคายตามวิสัยนักปราชญ์ บทนิพนธ์นี้จึงกลายเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเกิดความกังวลและระแวงพระทัยไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม การเป็นคนโปรดและคนใกล้ชิดขององค์จักรพรรดิซึ่งเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ก็เท่ากับว่าตงฟางซั่วกำลังตกอยู่ในท่ามกลางอันตราย นอกจากต้องแก้ปัญหาการถูกใส่ร้ายป้ายสีอันมีมูลเหตุมาจากความอิจฉาตาร้อนของเหล่าขุนนางในราชสำนักแล้ว ยังต้องเกรงกลัวว่าการกราบทูลทัดทานอาจทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย การตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นเปรียบประดุจดังสำนวนจีนที่ว่า “伴君如伴虎” (ใกล้ชิดฮ่องเต้เสมือนอยู่กับพยัคฆ์ร้าย) นิสัยใจคอของตงฟางซั่วเป็นคนตรงไปตรงมา เขาเคยกราบทูลทัดทานจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้หลายเรื่อง เช่น เตือนพระองค์ให้อยู่ห่างจากพวกขุนนางกังฉิน หรือยกเลิกการก่อสร้างพระตำหนักแห่งใหม่ แม้ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยได้ด้วยวิธีการพูดที่ใช้กุศโลบายอย่างแนบเนียน แต่กว่าจะประคองตัวเองเป็นขุนนางยอดนักค้านได้ ก็ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ควบคู่กับสติปัญญาตลอดเวลา
ต่อมาเมื่อ 138 ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้มีพระประสงค์จะขยายพระราชอุทยานซ่างหลินย่วน (上林苑) แต่ตงฟางซั่วได้ทักท้วงเพราะเห็นว่าการขยายพระราชอุทยานซ่างหลินย่วนเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน โดยเสนอให้นำงบดังกล่าวไปพัฒนาด้านเกษตรกรรม
จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงประจักษ์ถึงความรู้ความสามารถของตงฟางซั่ว จึงแต่งตั้งเขาเป็นขุนนางโดยพระราชทานข้าวสารจำนวน 1,000 กระสอบ และปูนบําเหน็จทองคำเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีสิทธิ์เข้าออกพระราชวัง และสามารถเข้าเฝ้าจักรพรรดิตามโอกาสอันสมควร
อย่างไรก็ตาม แม้พระองค์ทรงรับฟังข้อเสนอของตงฟางซั่ว แต่โครงการขยายการก่อสร้างพระราชอุทยานซ่างหลิน
ย่วนก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดิม
วันหนึ่ง ตงฟางซั่วเมาสุราและปัสสาวะภายในห้องโถงพระราชวัง เหล่าขุนนางจึงร่วมกันยื่นฎีกาถวายเพื่อให้พระองค์พิจารณาตัดสินลงโทษฐานลบหลู่เบื้องสูง จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ไม่อาจฝืนกระแสวิจารณ์ มีรับสั่งให้ปลดตงฟางซั่วออกจากตำแหน่ง และลดสถานะจากขุนนางเป็นคนสามัญ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังคงให้ตงฟางซั่วอยู่ในสำนักข้าหลวง คอยฟังรับสั่งให้เข้าเฝ้าอยู่ตลอดเวลา
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีน จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ได้รับการยกย่องว่าให้เป็นกษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ บริหารปกครองบ้านเมืองได้ดี ตลอดจนสามารถทำให้ราษฎรอยู่ดีกินดี พระองค์จึงดึงดูดเหล่าบัณฑิตชั้นนำจำนวนมากให้เข้ามาเป็นข้าราชบริพารในราชสำนัก และตงฟางซั่วก็เป็นที่ชื่นชอบยิ่งกว่าใครๆ ในหมู่ข้าราชบริพาร แต่ว่ากันว่า ตงฟางซั่วแต่งภรรยาทุกปี เหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ต่างก็คิดว่าเขา (ขาดวินัย) ดื้อรั้นและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม พวกเขาจึงหัวเราะเยาะตงฟางซั่ว อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวได้เพราะตงฟางซั่วเป็นคนที่ฉลาดปราดเปรื่อง เพียงแต่ชอบตีหน้าเซ่อ
เมื่อประสบปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้มักทรงหารือตงฟางซั่ว และได้ประเด็นสำคัญกลับไป ทั้งยังได้คำตอบจากมุมมองใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงรู้สึกโล่งพระทัย และเมื่อใดที่พระองค์กังวลก็จะรับสั่งให้ตงฟางซั่วมาสนทนาด้วย ตงฟางซั่วมีไหวพริบดี สามารถพูดจนจักรพรรดิทรงพระสรวลและขจัดความหดหู่ในพระทัยได้ ด้วยเหตุนี้จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้จึงทรงตระหนักถึงคุณค่าของตงฟางซั่วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเห็นว่าความมึนเมาของเขาเป็นเพียงพฤติกรรมธรรมดาของบัณฑิตและกวีทั้งหลาย
นอกจากนี้ จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ยังทรงเป็นประมุขผู้ที่มีน้ำพระทัยกว้างขวาง จึงพระราชทานรางวัลแก่ตงฟางซั่วด้วยเครื่องประดับทองคำและเงิน เมื่อตงฟางซั่วได้รับมาแล้ว เขาก็ไม่ได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อที่ดินหรือทรัพย์สินมีค่า แต่กลับใช้จ่ายเพื่อตบแต่งกับภรรยาใหม่ ตงฟางซั่วยังคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นภรรยาของเขาโดยมีเงื่อนไขประการแรกคือ ต้องเป็นผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองฉางอัน ประการที่สอง ต้องเป็นเด็กสาวที่สวยเปล่งปลั่งราวกับดอกไม้บานสะพรั่ง ประการสุดท้าย เขาจะเปลี่ยนภรรยาใหม่ทุกปี ถ้าเช่นนั้นแล้วภรรยาคนเดิมล่ะ? ก็แค่เลิกกันโดยสันติ
เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่ตงฟางซั่วถูกติฉินนินทาหนาหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าขุนนางต่างก็ตำหนิติเตียนตงฟางซั่วอย่างสาดเสียเทเสีย โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นคนที่ลุ่มหลงในความงามจนขาดความยับยั่งชั่งใจ ทิ้งภรรยาเก่าแล้วแต่งภรรยาใหม่อยู่เรื่อย แต่จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้กลับไม่คิดเช่นนั้น พระองค์ทรงตอบโต้แทนตงฟางซั่ว แม้ตงฟางซั่วจะทำตัวไร้สาระ แต่ที่จริงแล้วเขาเป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง และยังไม่มีผู้ใดเทียบเขาได้เลย บรรดาขุนนางในราชสำนักจึงไม่กล้าคัดค้าน
ก่อนตงฟางซั่วจะสิ้นใจ เขาได้กราบทูลจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ว่า “ตราบเท่าที่การใส่ร้ายป้ายสียังไม่ยุติ แผ่นดินก็ย่อมจะปราศจากความสงบสุข ขอให้พระองค์ทรงอยู่ห่างจากพวกประสงค์ร้าย อย่าไปรับฟังคำประจบสอพลอ”
ด้วยเหตุที่โดยปกติการสนทนามีแต่เรื่องตลก เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องจึงอุทานว่า “ช่างแปลกเสียจริง ตงฟางซั่วพูดจริงจังแบบนี้เป็นด้วยรึ”
หลังจากตงฟางซั่วถึงแก่กรรมไม่นาน ก็เกิดจลาจลทางการเมือง เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้มีชื่อว่า “กบฏมนต์ดํา” (巫蠱之禍) มูลเหตุมาจากฮั่นอู่ตี้หลงเชื่อคำใส่ร้ายป้ายสีของขุนนางบางกลุ่มที่กล่าวหาว่ารัชทายาทหลิวจี้ว์ (劉據 128-91 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มุ่งปองร้ายจักรพรรดิด้วยการทำคุณไสย หลิวจี้ว์ชี้แจงไม่ได้ผลจึงก่อกบฏเพื่อล้างแค้นหวังกำจัดเหล่าขุนนางกังฉินให้หมดสิ้น หลังจากนั้นก็ปลิดชีพตนเองเพราะพ่ายแพ้ เนื่องจากไม่อาจต้านทานกองทัพปราบปรามกบฏของฮั่นอู่ตี้ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้กว่าความจริงจะปรากฏก็ต้องสังเวยชีวิตคนทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องร่วมแสนคน
การสูญเสียข้าราชบริพารผู้มีความสามารถทางการเมืองและการทหารเป็นจำนวนมากนั้น บั่นทอนทั้งกำลังและอำนาจของราชสำนักฮั่นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็มีมูลเหตุมาจากการที่จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ขาดแคลนข้าราชบริพารผู้กล้าท้วงติงอย่างตงฟางซั่วนั่นเอง
[1] 公車署คือ หน่วยรับรองประชาชน ตั้งอยู่หน้าวังหลวงในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หรือนำหนังสือร้องเรียนจากราษฎรส่งถึงจักรพรรดิ เมื่อจักรพรรดิมีพระประสงค์ให้ราษฎรคนไหนเข้าเฝ้า ข้าหลวงก็ต้องไปรับหรือส่งตัวด้วยรถม้าตามระเบียบในราชสำนัก
[2]金馬門 หรือ จินหม่าเหมิน แปลว่า “ประตูม้าทองคำ” เป็นชื่อเรียกหน่วยงานภายในวังหลวงของราชวงศ์ฮั่น
ทำหน้าที่คล้ายกับสำนักที่ปรึกษาประจำพระราชวัง ยุคหลังเรียกว่า สำนักราชบัณฑิต เนื่องจากมีรูปปั้นม้าทองแดงตั้งอยู่สองข้างประตู จึงเป็นที่มาของชื่อหน่วยงาน