เรจินัลด์ จอห์นสตัน พระอาจารย์ฝรั่งของจักรพรรดิจีนองค์สุดท้าย
เรื่องโดย เดชาวัต เนตยกุล
“…ปีสุดท้ายที่พระตำหนักอวี้ชิ่ง พระอาจารย์จอห์นสตันก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณข้าพเจ้าแล้ว…”
อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ผู่อี๋[1]
จากหนังสือ《我的前半生》
(ชื่อไทย จากจักรพรรดิสู่สามัญชน, ชื่ออังกฤษ From Emperor to Citizen)

พระอาจารย์จอห์นสตันและจักรพรรดิปูยี
—–‘เรจินัลด์ เฟลมิง จอห์นสตัน’ (Reginald Fleming Johnston / 莊士敦 ค.ศ. 1874-1938) เป็นพระอาจารย์ชาวตะวันตกของจักรพรรดิปูยี (溥儀 ค.ศ. 1906-1967) หรือจักรพรรดิเซวียนถ่ง (宣統) จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1636-1912) และเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของประเทศจีน จอห์นสตันเป็นชาวสก็อตแลนด์ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1874 สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระและมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หลังจากนั้นเขาได้สอบบรรจุเข้าสำนักงานอาณานิคมแห่งสหราชอาณาจักร และถูกส่งตัวไปยังฮ่องกง (香港) ในฐานะพนักงานทดลองงาน ทักษะภาษาจีนของเขาอยู่ในระดับดีมากเลยได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว ด้วยคำแนะนำของเจมส์ สจ๊วร์ต ล็อกฮาร์ต (James Stewart Lockhart ค.ศ. 1858-1937) ข้าหลวงประจำสำนักงานอาณานิคมฯ ในขณะนั้น สำนักงานอาณานิคมฯ จึงส่งตัวเขาไปยังเมืองเวยไห่ (威海市) หนึ่งในเมืองอาณานิคมของสหราชอาณาจักร เขาเริ่มทำงานที่นี่ในฐานะเลขานุการและค่อยๆ ไต่เต้าจนได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของเมือง และได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์จากอังกฤษ
—–จอห์นสตันเป็นผู้ที่มีความสนใจแรงกล้าต่อประเทศจีน เขาซึมซับและเข้าใจวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวจีนอย่างลึกซึ้ง ด้วยความที่นับถือศาสนาพุทธและคำสอนของขงจื๊อ เขาจึงไม่พอใจที่พวกบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศจีนจนเกินขอบเขต และเขียนหนังสือเพื่อตำหนิพฤติการณ์ดังกล่าว แต่ก็ถูกชาวอังกฤษด้วยกันวิจารณ์ว่าเขาเป็นคนที่คิดคดต่อบ้านเมืองของตนเอง
ดำรงตำแหน่งพระอาจารย์
—–ใน ค.ศ.1918 สวีซื่อชาง (徐世昌 ค.ศ. 1855-1939) พระอาจารย์คนก่อนของจักรพรรดิปูยี ลาออกจากตำแหน่งเนื่องด้วยต้องไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน ราชสำนักจึงต้องหาพระอาจารย์คนใหม่ให้แก่องค์จักรพรรดิ ด้วยความที่หลี่จิงม่าย (李經邁 ค.ศ. 1876-1938) บุตรชายคนรองของหลี่หงจาง[2](李鴻章 ค.ศ. 1823-1901) รู้จักจอห์นสตันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว จึงได้แนะนำให้เขารับตำแหน่งนี้ โดยปกติคนที่จะมาดำรงตำแหน่งพระอาจารย์ได้ต้องเป็นบัณฑิตชาวจีนผู้ทรงภูมิรู้สูงส่ง การที่จอห์นสตันรับหน้าที่นี้จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูในราชสำนัก ขุนนางส่วนใหญ่คิดว่าจอห์นสตันไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นพระอาจารย์ได้ แต่ราชสำนักหวั่นใจว่าหากตั้งแง่กีดกันจอห์นสตัน อาจเป็นชนวนของความบาดหมางกับทางรัฐบาลอังกฤษ จึงยินยอมให้เขารับตำแหน่งในที่สุด
—–เมื่อจักรพรรดิปูยีทรงทราบว่าจะมีชาวตะวันตกมาเป็นพระอาจารย์ของพระองค์ ก็แปลกพระทัยและรู้สึกกระอักกระอ่วนไม่น้อย ในการพบกันครั้งแรกพระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับจอห์นสตันตามธรรมเนียมต้อนรับขุนนางจากตะวันตกทั่วไป หนังสือ ‘จากจักรพรรดิสู่สามัญชน’ ซึ่งจักรพรรดิปูยีทรงพระราชนิพนธ์เอง ได้บรรยายการพบกันครั้งนั้นไว้ดังนี้ “ข้าพเจ้าพบว่าพระอาจารย์จอห์นสตันมิได้น่าเกรงขามแต่อย่างใด เขาพูดภาษาจีนอย่างลื่นไหล ฟังเข้าใจมากกว่าสำเนียงฝูเจี้ยนของพระอาจารย์เฉินและสำเนียงเจียงซีของพระอาจารย์จูเสียอีก ในตอนนั้นพระอาจารย์จอห์นสตันอายุประมาณกว่า 40 ปี ดูแล้วมีอายุมากกว่าบิดาของข้าพเจ้า แต่การเคลื่อนไหวกลับแคล่วคล่องว่องไวกว่า หลังของเขาเหยียดตรงมาก จนข้าพเจ้าสงสัยว่ามีโครงเหล็กอะไรค้ำอยู่หรือเปล่า…”
—–จอห์นสตันไม่เพียงสอนวิชาภาษาอังกฤษ แต่ยังสอนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาการของชาติตะวันตกให้แก่จักรพรรดิปูยีอีกด้วย สิ่งที่จักรพรรดิปูยีทรงเห็นและรู้สึกประทับใจในตัวจอห์นสตันก็คือ ‘ความอดทน’ แม้ปูยีจะเป็นจักรพรรดิ แต่ก็มีความซุกซนเฉกเช่นเด็กสามัญชน เวลาเรียนจึงมักวอกแวกอยู่บ่อยครั้ง จอห์นสตันนอกจากไม่เคยปริปากบ่นแล้ว เขายังปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้น่าสนใจมากกว่าเดิม ตามคำบอกเล่าของจักรพรรดิปูยี มีอยู่วันหนึ่งจอห์นสตันได้นำรูปรถถัง ปืนใหญ่ และเครื่องบินของกองทัพสัมพันธมิตรมาให้พระองค์ทอดพระเนตร แล้วบรรยายอานุภาพและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพเหล่านั้น ซึ่งพระองค์ก็สนพระทัยอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้สักระยะหนึ่งก็ทรงเริ่มเบื่อหน่าย เลยเอายานัตถุ์ออกมาวางกองไว้บนโต๊ะ และค่อยๆ สูดดมเข้าไป จอห์นสตันเห็นดังนั้นกลับไม่ถือสาแม้แต่น้อย เขาค่อยๆ เก็บรวบรวมรูปภาพเหล่านั้น แล้วรอจักรพรรดิปูยีจนหมดชั่วโมงเรียน นานวันเข้าจักรพรรดิปูยีก็เริ่มสำเหนียกถึงความอดทนและความมุมานะในการสอนของจอห์นสตัน ทั้งสองเริ่มใกล้ชิดสนิทกันขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนรู้ใจกัน ถึงกับเมื่อจักรพรรดิปูยีเข้าพิธีบรมราชาภิเษกสมรสก็ได้พระราชทานตำแหน่งขุนนางสูงสุดพร้อมเรือนหยั่งซิ่ง (養性齋) ที่ตั้งอยู่บริเวณพระราชอุทยานให้จอห์นสตันใช้พักผ่อนอ่านหนังสือในเวลากลางวัน
—–นอกจากด้านการสอนหนังสือแล้ว ในด้านชีวิตประจำวันรวมถึงสุขภาพพลานามัยขององค์จักรพรรดิ จอห์นสตันยังเอาใจใส่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จักรพรรดิปูยีเป็นผู้ที่โปรดการอ่านหนังสือพิมพ์อย่างยิ่ง จนสายพระเนตรของพระองค์เสื่อมลง พระองค์มักบ่นว่าทอดพระเนตรไม่ค่อยชัด และปวดพระเศียรอยู่เป็นนิจ โอสถที่แพทย์หลวงจัดถวายก็ไม่อาจเยียวยาได้ มีอยู่วันหนึ่งในขณะที่ทรงพระอักษรอยู่ ณ ตำหนักอวี้ชิ่ง (毓慶宮) บนโต๊ะทรงพระอักษรมีนาฬิกาเรือนเล็กๆ วางอยู่ แต่จอห์นสตันสังเกตว่า เมื่อพระองค์จะดูเวลากลับหันพระพักตร์ไปทอดพระเนตรนาฬิกาเรือนใหญ่ที่กำแพงแทน เขาจึงทูลถามถึงสาเหตุ และได้ทราบว่าพระองค์ทรงมองนาฬิกาเรือนตรงหน้าไม่ค่อยชัด เขาแน่ใจแล้วว่าพระองค์สายพระเนตรสั้น ดังนั้นจึงรีบไปปรึกษาพระราชบิดาไจ้เฟิง[3](載灃 ค.ศ. 1883-1951) และขุนนางคนสำคัญต่างๆ แต่บุคคลเหล่านั้นกลับมีท่าทีไม่สนใจราวกับว่านี่เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย จอห์นสตันไม่อาจทนดูต่อไปได้จึงคิดจะเชิญแพทย์ชาวตะวันตกมาตรวจรักษา แต่พระนางตวนคังหวงกุ้ยไท่เฟย[4] (端康皇貴太妃 ค.ศ. 1873-1924) ผู้มีศักดิ์เป็นพระมาตุลานี (ป้าสะใภ้) และเป็นหนึ่งในไท่เฟย[5] (太妃) ที่คอยปรนนิบัติจักรพรรดิปูยีกลับกริ้ว และยืนกรานไม่ยอมให้พระองค์สวมฉลองพระเนตร จอห์นสตันคิดว่าหากสายพระเนตรสั้นจริงๆ อย่างไรเสียก็ต้องสวมฉลองพระเนตร จึงดึงดันและใช้ตำแหน่งของตนเป็นเดิมพัน ว่าถ้าไม่ให้องค์จักรพรรดิสวมฉลองพระเนตร เขาก็จะลาออกจากตำแหน่งพระอาจารย์ ในที่สุดจักรพรรดิปูยีต้องมีพระราชบัญชาให้จอห์นสตันเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้เอง จากเหตุการณ์นี้จอห์นสตันไม่เคยรู้สึกเสียใจภายหลังที่ทำให้พระนางตวนคังหวงกุ้ยไท่เฟยพิโรธเลย เพราะว่าพระพลานามัยขององค์จักรพรรดิย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

(จากซ้าย) จอห์นสตัน, ผู่เจี๋ย, รุ่นฉี และปูยี
—–สำหรับจักรพรรดิปูยีแล้ว จอห์นสตันเป็นบุคคลผู้ทรงค่า ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไรก็ถูกก็ควรทั้งสิ้น และสำหรับจอห์นสตันเอง จักรพรรดิปูยีทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ แต่ก็ไม่ต่างกับคนธรรมดาที่มีสุขมีทุกข์ระคนกันไป ความเป็นชาวตะวันตกของจอห์นสตันมีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดของจักรพรรดิปูยี พระองค์ได้นำธรรมเนียมและศิลปะวิทยาการแบบตะวันตก เข้ามาในพระราชวัง เช่น การสวมสูทสากลเยี่ยงจอห์นสตันและชาวต่างชาติ การติดตั้งโทรศัพท์ในพระราชวัง การตีเทนนิส การฟังดนตรีตะวันตก การตั้งชื่อภาษาอังกฤษ รวมถึงการตัดผมเปียซึ่งเป็นวัฒนธรรมแต่โบราณของชาวแมนจูทิ้ง

ปูยี (คนที่สองจากซ้าย), จอห์นสตัน, ผู่เจี๋ย และรุ่นฉี บนเรือนหยั่งซิ่ง
—–ค.ศ. 1924 นายพลเฝิงอวี้เสียง (馮玉祥 ค.ศ. 1882-1948) ก่อการปฏิวัติ จักรพรรดิปูยีพร้อมด้วยเหล่าเชื้อพระวงศ์ถูกขับออกจากพระราชวัง และถูกถอดฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน แล้วย้ายที่ประทับไปยังคฤหาสน์อุดร (北府) แม้จะเป็นสามัญชนผู้ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลภายใต้ ‘เงื่อนไขอภิสิทธิ์แก่เชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ชิง’ (清室優待條件) แล้ว ทว่าสถานะของปูยีตอนนี้ยังคงล่อแหลม เพราะจะต้องมีคนหมายเอาชีวิตของเขาอย่างแน่นอน ดังนั้นพระราชบิดา พระอาจารย์เฉินเป่าเชิน (陳寶琛 ค.ศ. 1848-1935) และจอห์นสตันจึงคิดหาทางช่วยเหลือ โดยติดต่อไปยังสถานทูตต่างๆ เพื่อหาสถานที่ลี้ภัยแห่งใหม่ให้แก่ปูยี ในที่สุดจอห์นสตันได้ติดต่อไปยังสถานทูตญี่ปุ่น จนปูยีได้รับการคุ้มครองดูแลจากราชทูตญี่ปุ่น ในช่วงที่ปูยีพำนัก ณ สถานทูตญี่ปุ่นก็ได้แวะเวียนไปหาจอห์นสตัน คนทั้งสองมักเดินเล่นอยู่บนกำแพงในเขตสถานทูต มองดูทิวทัศน์ของหอสักการะฟ้าที่ล้อมรอบด้วยแมกไม้เขียวขจี หลังคาสีเหลืองทองของพระราชวัง ซึ่งเคยเป็นดั่งคุกที่ขังปูยีเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ซึ่งเขาเจริญอายุ จากนั้นไม่นานนักปูยีก็ย้ายไปอยู่ที่เทียนจิน (天津)
—–ค.ศ. 1926 จอห์นสตันต้องกลับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการกลับมาตุภูมิครั้งที่สองนับตั้งแต่อยู่ประเทศจีนมาตลอด 28 ปี เมื่อจัดการธุระเรียบร้อยแล้ว จอห์นสตันก็กลับมารับตำแหน่งที่เมืองเวยไห่ตามเดิม แต่ยังคงไปเยี่ยมเยียนปูยีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันคล้ายวันพระราชสมภพของจักรพรรดิปูยีนั้น จอห์นสตันถือเป็นวาระพิเศษที่ต้องเดินทางไปร่วมงานวันเกิดและอวยพรเขาอยู่เป็นประจำ
—–จนกระทั่งวันหนึ่ง หลังจากจอห์นสตันไปเยี่ยมปูยีที่เทียนจินได้ไม่นาน ก็ต้องกลับมาจัดการธุระที่เมืองเวยไห่ให้ลุล่วง นั่นคือการคืนสิทธิการปกครองเมืองเวยไห่ที่เป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษให้แก่ประเทศจีนและเตรียมเดินทางกลับอังกฤษ เพราะว่าภารกิจในประเทศจีนของเขาได้เสร็จสิ้นไปด้วยดีแล้ว การกลับบ้านเกิดเมืองนอนครั้งนี้ เขาไม่รู้ว่าวันใดจะได้กลับมาเยือนประเทศจีนอีก วันที่เขาจะขึ้นเรือกลับเมืองเวยไห่นั้น ปูยีได้ไปรอจอห์นสตันที่โรงแรมตั้งแต่เช้าตรู่และก็ตามส่งเขาถึงท่าเรือ โดยปูยีได้มอบพัดเป็นของที่ระลึกแก่จอห์นสตันด้วย
—–ถึงครั้งนี้จะเป็นการจากลาที่เศร้าใจ แต่ใครจะคิดว่าแค่หนึ่งปีให้หลัง จอห์นสตันก็ได้กลับมาเยือนแผ่นดินจีนอีกครั้ง เนื่องจากมีการจัดการประชุมวิชาการแปซิฟิก (太平洋會議) ครั้งสำคัญในประเทศจีน ด้วยความที่จอห์นสตันคุ้นเคยกับเศรษฐกิจของจีนและชาติตะวันตกจึงได้ติดตามคณะที่จะเข้าร่วมประชุมมาด้วย เมื่อปูยีทราบข่าวก็รีบจัดแจงคนไปรับส่ง จอห์นสตันจึงพลอยได้รู้ถึงแผนการที่ปูยีจะไปจัดตั้งจักรวรรดิแมนจูกัว (滿洲國 ค.ศ. 1932-1945) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แหล่งกำเนิดของชาวแมนจู ซึ่งญี่ปุ่นกำลังยึดครองอยู่ในขณะนั้น อุบายของปูยีทำให้รัฐบาลจีนสมัยนั้นเป็นกังวล และอยากให้จอห์นสตันช่วยเกลี้ยกล่อมปูยี แต่จอห์นสตันรู้ดีว่าปูยีเมื่อตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้ว ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนใจเขาได้
—–หลายปีผ่านไป จอห์นสตันยังเดินทางไปมาระหว่างอังกฤษกับจีนอยู่บ่อยครั้ง ที่อังกฤษเขาเป็นทั้งอาจารย์สอนภาษาจีนในมหาวิทยาลัยลอนดอนและที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศควบคู่กันไป เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Twilight in the Forbidden City’ (紫禁城的黄昏) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศจีนยุคปลายราชวงศ์ชิง และเป็นดั่งบันทึกความทรงจำระหว่างเขากับจักรพรรดิปูยีในช่วงที่เขาพำนักอยู่ ณ ประเทศจีน
—–ใน ค.ศ. 1935 จอห์นสตันได้ไปเยี่ยมจักรพรรดิปูยีที่พระราชวังแมนจูกัว (滿洲國皇宮) ณ เมืองฉางชุน พระองค์จัดงานเลี้ยงต้อนรับเขาอย่างสมเกียรติ และชักชวนเขาให้อยู่ช่วยงานเพื่อเสริมสร้างพระบารมี แต่เขาปฏิเสธคำเชิญชวนนั้น และนี่ก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ศิษย์อาจารย์คู่นี้ได้เสวนากัน
—–จักรพรรดิปูยีผ่านมรสุมชีวิตมาหลายต่อหลายครั้ง จอห์นสตันเชื่อว่าขณะนี้พระองค์เจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ รู้อยู่แก่ใจว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ใด และได้เลือกเส้นทางชีวิตอย่างแน่วแน่แล้ว แม้ว่าในภายหน้าเขาอาจไม่มีวันได้กลับมาเยือนประเทศจีนอีก แต่เขาก็จะอวยพรให้พระองค์เสมอ
บั้นปลายชีวิตของจอห์นสตัน

จอห์นสตันกับเครื่องแบบฤดูหนาวของขุนนางระดับสูง
—–หลังจากจอห์นสตันอำลาประเทศจีนมาแล้ว เขาได้ซื้อเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งในสก็อตแลนด์ และสร้างบ้านบนเกาะแห่งนั้น แล้วตั้งชื่อให้แก่ห้องต่างๆ ในบ้าน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ เช่น โถงต้นสน (松竹廳) โถงเวยไห่ (威海廳) โถงจักรพรรดิ (皇帝廳) ฯลฯ คราใดที่มีเพื่อนมาเยี่ยมเยียน เขามักใส่ชุดขุนนางต้าชิงออกไปต้อนรับ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้จัดห้องโถงเล็กๆ เพื่อแขวนชุดขุนนาง รวมถึงจัดวางสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิปูยี เพื่อเป็นเครื่องรำลึกย้อนหลังถึงช่วงชีวิตครั้งอยู่ที่ประเทศจีนและความสัมพันธ์ฉันศิษย์กับอาจารย์อันแน่นแฟ้นด้วย
—–ในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1938 จอห์นสตันวายชนม์ลงอย่างสงบด้วยวัย 63 ปี ณ บ้านของเขาในเมืองเอดินบะระ ชีวิตพิสดารของพระอาจารย์ชาวตะวันตกผู้นี้ก็ได้ปิดฉากลง เหลือไว้เพียงเรื่องเล่าและหนังสือให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาในฐานะ ‘พระอาจารย์ฝรั่งของจักรพรรดิจีนองค์สุดท้าย’
[1] อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ผู่อี๋ (愛新覺羅·溥儀) ชาวไทยรู้จักกันในนาม ‘จักรพรรดิปูยี’
[2] หลี่หงจาง (李鴻章 ค.ศ. 1823-1901) ผู้บัญชาการทหาร นักการเมือง และนักการทูตสมัยปลายราชวงศ์ชิง มีผลงานหลักคือเป็นหนึ่งในผู้นำของขบวนการพัฒนาแบบตะวันตก (洋務運動) ปราบกบฏไท่ผิงเทียนกว๋อ (太平天國) ฯลฯ
[3] อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ไจ้เฟิง (愛新覺羅·載灃) พระราชบิดาของจักรพรรดิปูยี และเป็นพระอนุชาต่างมารดาของจักรพรรดิกวังซวี่ (光緒 ค.ศ.1871-1908)
[4] พระนางตวนคังหวงกุ้ยไท่เฟย (端康皇貴太妃 ค.ศ. 1873-1924) เดิมเป็นพระสนมจิ่นเฟยในรัชสมัยจักรพรรดิกวังซวี่ หลังจากจักรพรรดิปูยีสละราชสมบัติเมื่อ ค.ศ. 1912 ราชสำนักจึงถวายพระราชทินนามว่า ‘ตวนคังหวงกุ้ยไท่เฟย’
[5] ไท่เฟย (太妃) หมายถึงพระมเหสีในรัชกาลก่อน โดยทั่วไปจะมีการแต่งตั้งก็ต่อเมื่อไม่มีสมเด็จพระพันปีหลวง (皇太后) เท่านั้น