เช็งเม้ง:
เทศกาลแสดงความกตัญญูต่อบรรพชน
เรื่องโดย: ถิรวัสส์ อัครเดชเรืองศรี
——ย่างเข้าเทศกาลเช็งเม้งทีไร ก็ได้เวลาที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนต้องจัดเตรียมของเซ่นไหว้บรรพชนหรือเดินทางไปเยี่ยมสุสานบรรพชนตามสถานที่ต่างๆ เพราะเช็งเม้งถือเป็นเทศกาลสำคัญซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะได้พบกันพร้อมหน้าเพื่อประกอบพิธีกรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
——ประเทศไทยนับว่าเป็นเป้าหมายใหญ่ของชาวจีนแต้จิ๋ว[1]โพ้นทะเล พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงลงหลักปักฐาน แต่ยังได้สืบทอดวัฒนธรรมเดิมของบรรพชนด้วย ทั้งนี้ วัฒนธรรมแต้จิ๋วถือเป็นมรดกของสังคมเก่าในจีนแผ่นดินใหญ่ที่รอดพ้นจากการปฏิวัติวัฒนธรรม เนื่องด้วยบรรพบุรุษของชาวแต้จิ๋วอพยพมาจากที่ราบจงหยวน (中原)[2] ซึ่งเป็นแหล่งที่เกิดสำคัญของวัฒนธรรมจีนทุกแขนง
——คนจีนถือความกตัญญูเป็นคุณธรรมชั้นยอด (百善孝為先) ตามค่านิยมของลัทธิขงจื๊อ (儒家 ลัทธิหรู) พวกเขาจึงดูแลปรนนิบัติบุพการีในยามท่านยังมีชีวิตอยู่ ครั้นท่านจากไปแล้วก็จัดหาหลุมฝังศพให้สมฐานะ รวมถึงเซ่นไหว้ในทุกเทศกาลและการฉลองฤดูกาล ตามธรรมเนียมจีนแต้จิ๋วนั้น ในรอบปีมีการฉลองมหาอุตุปักษ์ทั้งสี่[3] อันเป็นวาระสำคัญของแต่ละฤดูกาลโดยนับตามปฏิทินการเกษตรของจีน (農曆) และเทศกาลทั้งหมดแปดครั้ง[4] เรียกรวมกันว่า 4 ฤดูกาล 8 เทศกาล (四時八節) โดยมีการเซ่นไหว้บุพการีและบรรพชนในทุกเทศกาล ดุจท่านยังคงดำรงชีพ ไม่ได้จากลูกหลานไปไหน (祭如在) เพื่อรำลึกพระคุณที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ นอกจากนี้ยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งซึ่งชาวจีนทุกท้องถิ่นถือปฏิบัติร่วมกัน คือการเยี่ยมสุสานบรรพชน (上墳) ประจำปี
——
-
การเยี่ยมสุสานบรรพชน
——เดิมทีธรรมเนียมการฝังศพบุพการีของชาวแต้จิ๋วนั้น นิยมทำสองครั้งคือ ครั้งแรกบรรจุศพในโลงและฝังในทำเลที่เหมาะสมไม่ไกลจากบ้าน การฝังก็ทำอย่างเรียบง่ายแค่เป็นกองดินพูน ให้พอรู้ว่าเป็นหลุมศพ ครั้งที่สอง เมื่อเวลาผ่านไปสามปี ลูกหลานจะขุดศพบุพการีขึ้นมาทำความสะอาด แล้วเก็บกระดูกใส่โถเครื่องเคลือบขนาดใหญ่ หากกระดูกมีสีขาวหรือเหลืองนวล แสดงว่าทำเลตรงนี้เหมาะสมแล้ว ก็จะลงมือฝังซ้ำในสถานที่เดิม หากกระดูกมีสีดำ ก็จะเสาะหาทำเลใหม่ในป่าเขาที่เข้ากับหลักฮวงจุ้ย เพื่อนำไปฝังอีกครั้ง การฝังใหม่ทั้งสองกรณีจะสร้างเป็นสุสานถาวร หรือ “ฮวงซุ้ย” ที่คนไทยรู้จักนั่นเอง
——หน้าที่หลักในการเยี่ยมสุสานคือ การปัดกวาดซ่อมแซมสุสาน (掃墓) ทาสีตัวอักษรซึ่งซีดจางบนป้ายหินสลักชื่อบรรพบุรุษ (石碑) ให้เด่นชัดดังเดิม โปรยกระดาษห้าสี (五色紙) หรือกระดาษสีเหลืองล้วนอย่างเดียวตามธรรมเนียมของแต่ละถิ่น หากโปรยกระดาษสีแดงล้วนโดยเฉพาะ จะเป็นการสื่อความหมายว่าเจ้าของสุสานยังมีชีวิตอยู่ จึงเรียกสุสานนั้นว่า แซกี (生基 เซิงจี)[5] หากพบสุสานซึ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเนินดินโปรยแต่กระดาษหลากสีและสีแดง ก็แสดงว่าคู่สามีภรรยาเจ้าของสุสาน มีฝ่ายหนึ่งได้สิ้นชีวิตและนำศพมาบรรจุไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการนำกระดาษมาปิดทับบนป้ายชื่อบรรพบุรุษ หรือแขวนไว้ตามกิ่งไม้ เรียกว่า ก๊วยจั้ว (掛紙 กว้าจื่อ)
——ในบางถิ่นมีการเซ่นไหว้ด้วยหอยแครง เนื่องจากในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกหอยแครงว่า ฮำ (蚶 ฮาน) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า ฮำ (函 หาน) ที่แปลว่า “รวม” อีกทั้งหอยแครงมีเปลือกหุ้มตัวไว้ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนความรักใคร่กลมเกลียวและความสมัครสมานของลูกหลาน นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยคือเนื้อและกระดูกได้เจอกัน (骨肉相見) กล่าวคือลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ได้พบบรรพบุรุษที่จากไปแล้ว ซึ่งสะท้อนสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นในหมู่เครือญาติของชาวจีน เมื่อเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ลูกหลานจะนำเปลือกหอยแครงมาโปรยบนเนินสุสาน เพื่อให้บรรพบุรุษนำไปใช้ต่างเงินในอีกภพภูมิ พิธีดังกล่าวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อหน้าสุสานว่ายังมีลูกหลานมารักษาดูแล ทั้งยังมีกุศโลบายเพื่อให้ลูกหลานทุกคนได้มาพบปะกัน เนื่องด้วยการแยกกันมาเซ่นไหว้ถือเป็นการอกตัญญูอย่างหนึ่งต่อบรรพชนตามคติของชาวจีน
-
วันเช็งเม้งกับ วันเหมายัน
——เช็งเม้ง (清明) ตรงกับวันที่ 4 หรือ 5 เมษายนของทุกปี เป็นปักษ์ลำดับที่ห้าใน 24 อุตุปักษ์ (廿四節氣) อยู่หลังจากปักษ์แรกคือ ปฐมวสันต์ หรือหลิบชุง (立春 ลี่ชุน) ประมาณ 60 วัน และปักษ์ที่สี่ คือ วสันตวิษุวัต หรือชุงฮุง (春分 ชุนเฟิน) อันเป็นปักษ์สำคัญอย่างยิ่งของฤดูใบไม้ผลิ 15 วัน ในวันเช็งเม้งโลกจะโคจรรอบดวงอาทิตย์มาถึงจุด 15 องศา และเกิดปรากฏการณ์คือ ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศสดชื่น ทิวทัศน์งดงาม (氣清景明) ตามชื่อของปักษ์
——เมื่อย่างเข้าปักษ์หลิบชุงนั้น หิมะหน้าหนาวที่ปกคลุมทั่วแผ่นดินได้ละลาย ต้นหญ้าเริ่มงอกงามอีกครั้ง ฝนโปรยลงมาชะหน้าดินของสุสานจนเนินดินยุบตัว ครั้นเวลาผ่านไปสองเดือนก็ถึงปักษ์เช็งเม้ง ต้นหญ้าขึ้นคลุมสุสานจนดูรกเรื้อ จึงเป็นเหตุให้ลูกหลานแสดงความกตัญญูโดยพากันไปปัดกวาดสุสาน ถอนหญ้าและเติมดินที่พร่องไปให้บริบูรณ์ ถือเป็นการได้ไปเยี่ยมบ้านหลังสุดท้ายซึ่งบรรจุศพของบรรพบุรุษผู้ล้มหายตายจาก
——ในทางตรงกันข้าม เดิมชาวแต้จิ๋วนิยมถือเอา “วันเหมายัน” หรือที่รู้จักกันในนามเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ซึ่งเป็นมหาอุตุปักษ์ประจำฤดูหนาว เป็นวันไปกราบไหว้สุสานบรรพชน และเรียกช่วงดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า “ก๊วยตังจั้ว” (掛冬紙) เนื่องจากในช่วงเช็งเม้ง ภูมิอากาศของถิ่นแต้จิ๋วซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีนมีฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ดังที่ปรากฏกวีนิพนธ์บทหนึ่งของตู้มู่ (杜牧 ค.ศ. 803–852) กวีเอกสมัยปลายราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618–907) ซึ่งอาจารย์ยง อิงคเวทย์ ถอดความเป็นสำนวนไทยว่า
“เช็งเม้งยามมงคลสายฝนพรำ คนเดินทางระกำช้ำหมองศรี
เดินถามหาร้านเมรัยอยู่ไหนมี เด็กเลี้ยงวัวช่วยชี้ทาง(ร้าน)บ้านซิ่งงาม”
(清明時節雨紛紛,路上行人欲斷魂。借問酒家何處有,牧童遙指杏花村。)
——บทกวีนี้พรรณนาสภาพดินฟ้าอากาศของปักษ์เช็งเม้งได้อย่างเห็นภาพชัดเจน คือ ฝนตกทั้งวันจนอากาศชื้นหนาวเย็นเยือก ไม่อาจออกไปเดินนอกเคหสถานได้ กระทั่งร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านจำหน่ายสุรายังปิด หากถูกฝนในช่วงนี้จะต้องดื่มสุราคลายหนาว ประกอบกับในยุคสังคมเกษตรกรรม ปักษ์นี้เป็นฤดูกาลที่เหมาะแก่การเพาะปลูกทำเกษตรกรรม จึงไม่มีเวลาไปเยี่ยมและกราบไหว้สุสานบรรพชน ชาวแต้จิ๋วเลยเลือกเทศกาลไหว้ขนมบัวลอยซึ่งมีสภาพอากาศดีกว่า ทั้งยังเป็นช่วงว่างเว้นจากภารกิจสำคัญ เพื่อไปเซ่นไหว้สุสาน ดังที่ปรากฎหลักฐานในหนังสือเทศกาลและการเซ่นไหว้ของชาวแต้จิ๋ว《潮州時節與崇拜》แต่ในทางกลับกัน สภาพอากาศทางตอนเหนือของจีนในปักษ์เช็งเม้งดีกว่าช่วงเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ซึ่งหิมะตกหนักจนไม่อาจออกจากเคหสถานได้ คนจีนเหนือจึงนิยมใช้ปักษ์เช็งเม้งเซ่นไหว้สุสาน
——จุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้วันเช็งเม้งเป็นเทศกาลเซ่นไหว้สุสานบรรพชนคือ ในยุคสาธารณรัฐ (中華民國) ซึ่งรัฐบาลก๊กมินตั๋ง (國民黨) ปกครองประเทศ ได้กำหนดให้วันเช็งเม้งเป็น “วันเซ่นสรวงบรรพชนแห่งชาติ” พร้อมทั้งมีรัฐพิธีบูชาหวงตี้ (黃帝) ปฐมบรรพชนของชาวจีน และประกาศเป็นวันหยุดราชการ ประชาชนจึงสามารถเดินทางไปเซ่นไหว้โดยไม่ต้องลากิจหรือหยุดงาน การใช้เทศกาลไหว้ขนมบัวลอยเป็นวันเยี่ยมสุสานจึงถูกลดความสำคัญตั้งแต่นั้นมา
——ตามธรรมเนียม ชาวแต้จิ๋วนิยมเซ่นไหว้ป้ายสถิตวิญญาณบรรพชน (神主牌) ประจำฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า ชุงจี่ (春祭 ชุนจี้) ในปักษ์ชุงฮุง (春分) ซึ่งตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นหนึ่งในการพลีกรรมหรือการบูชาบรรพชนประจำฤดูทั้งสี่ ณ ศาลบรรพชน ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ในสมาคมตระกูลแซ่ต่างๆ และมีการเซ่นไหว้ ณ เคหสถาน หรือศาลบรรพชนอีกครั้งในปักษ์เช็งเม้งอันถือเป็นหนึ่งในแปดเทศกาลสำคัญ อย่างไรก็ตาม จะไม่นับการเซ่นไหว้ทั้งสองครั้งรวมกับการเยี่ยมสุสานในปักษ์เช็งเม้ง ซึ่งจะมีการเซ่นไหว้สุสานด้วยเครื่องเซ่นเพียงเล็กน้อย ไม่มากเท่ากับการเซ่นไหว้สองครั้งดังกล่าวข้างต้น
——การไหว้ในปักษ์เช็งเม้งสมัยก่อนนิยมทำเฉพาะวันที่ 4 หรือ 5 เมษายนตามปฏิทินของปีนั้นๆ หรืออนุญาตให้ไปได้ก่อนกำเนิดไม่เกินสามวัน เมื่อสภาพแวดล้อมของสังคมชาวไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบันเปลี่ยนไป เพื่อประหยัดเวลา และหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด จึงได้ปรับเปลี่ยน ขยายเวลาในการไปเยี่ยมสุสานบรรพชนเป็นระหว่างวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม (ปักษ์ชุงฮุง) ถึงวันที่ 4 หรือ 5 เมษายน (ปักษ์เช็งเม้ง) และมีการเซ่นไหว้เพียงครั้งเดียว ณ สุสาน การไปเยี่ยมสุสานในครั้งนี้จึงเป็นการรวมเอาการฉลองและการเซ่นไหว้ทั้งสี่ครั้ง ได้แก่ ปักษ์ชุงฮุง ปักษ์เช็งเม้ง เทศกาลทานอาหารเย็น (寒食節)[6] เทศกาลซ่างสื้อ (上巳節)[7] หรือเทศกาลเช็งเม้งโบราณ (古清明) เข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงเข้าใจผิดว่าประเพณีทั้งหมดข้างต้นเป็นสิ่งเดียวกัน
——ทั้งนี้ ตามประเพณีแต้จิ๋วดั้งเดิมในหลายถิ่น การเยี่ยมและเซ่นไหว้สุสานหลังจากบุพการีล่วงลับไปแล้ว 3 ปีแรก หรือ 25 เดือนแรกตามคำอธิบาย[8] ในคัมภีร์จารีตพิธีกรรม《禮記》มักกระทำในช่วงเช็งเม้ง โดยอนุญาตให้ลูกสาวที่แต่งงานแล้ว บุตรเขย และหลานนอก (外孫)[9] กลับมาเซ่นไหว้ได้ แต่ไม่นิยมให้ครอบครัวของลูกสาวที่ออกเรือนแล้วนำกล้วยหอม ซาลาเปา และขนมถ้วยฟู (發粿 ฮวกก้วย) มาเซ่นไหว้ เพราะตามคติพื้นบ้านเชื่อว่า จะนำพาสิ่งมงคลในตระกูลออกไปจนหมดสิ้น และหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้วก็จะนิยมไปเยี่ยมสุสานในเทศกาลไหว้บัวลอยแทน
——ในกรณีไร้บุตรชายสืบสาย ก็จะมีการแต่งเขยเข้าตระกูล (入贅) เมื่อมีทายาทแล้วจะใช้สกุลฝ่ายมารดาเพื่อให้มีผู้สืบตระกูล และมีผู้เซ่นไหว้บรรพบุรุษฝ่ายภรรยา ซึ่งในอดีตถือเป็นการกระทำที่ฝ่ายบิดาหรือสามีรู้สึกเสียเกียรติมาก แต่ในประเทศไทย ครอบครัวส่วนใหญ่ลูกสาวกลับเป็นผู้จัดการเซ่นไหว้เกือบทั้งหมดแทนลูกชาย เหล่านี้คือข้อแตกต่างจากวัฒนธรรมเดิม
——เนื่องด้วยสภาพดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อมของสังคมไทยมีความแตกต่างจากของจีนราวฟ้ากับดิน ในช่วงเช็งเม้งอากาศร้อนจัด อาหารอันเป็นเครื่องเซ่นไหว้จึงเน่าเสียง่าย นอกจากนี้สุสานแบบจีนในประเทศไทย มักผ่านการจัดสรรที่ดินโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ และมีการรับจ้างบริการตัดหญ้า ทำความสะอาดประจำปี แต่ในประเทศจีนลูกหลานจะต้องทำการถางหญ้า หาบน้ำขึ้นเขาไปทำความสะอาดกันเอง เทศกาลไหว้ขนมบัวลอยจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการไปเยี่ยมสุสาน เพราะเหมาะกับภูมิอากาศของไทย
——โดยสรุปการเยี่ยมสุสานบรรพบุรุษ มีจุดประสงค์คือการได้พบปะญาติพี่น้องพร้อมหน้า และแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อบุพการีและบรรพบุรุษ อันเป็นคุณธรรมชั้นยอดของชนชาติจีน ทั้งนี้ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษเปรียบเสมือนหนึ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ลูกหลานมีหิริโอตตัปปะคือ การเกรงกลัวหรือละอายต่อบาป เพราะว่าหากทำชั่วแล้ว เมื่อสิ้นชีวิตย่อมไม่กล้าสู้หน้าบรรพบุรุษในสัมปรายภพ
[1] ถิ่นแต้จิ๋ว (潮州府) เป็นพื้นที่ในอำนาจปกครองของมณฑลกวางตุ้ง (廣東省) นับแต่อดีตมีชาวจีนจำนวนมากอพยพจากถิ่นนี้ไปหาเลี้ยงชีพยังต่างแดน
[2] จงหยวน ดินแดนอันเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญในความคิดของชาวจีนสมัยโบราณ ตั้งอยู่ภาคกลางค่อนไปทางภาคเหนือของประเทศจีนในปัจจุบัน ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอหนาน (ตอนกลางและตอนปลายลุ่มแม่น้ำฮวงโห) ภาคตะวันตกของมณฑลซานตง ภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและมณฑลซานซี คำนี้มีความหมายโดยปริยายว่า ถิ่นศูนย์กลางอารยธรรมจีน
[3] ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิคือ วสันตวิษุวัต (春分 ชุงฮุง / ชุนเฟิน) ฤดูร้อนคือ ครีษมายัน (夏至 แห่จี่ / เซี่ยจื้อ) ฤดูใบไม้ร่วงคือ ศารทวิษุวัต (秋分 ชิวฮุง / ชิวเฟิน) ฤดูหนาวคือ เหมายัน (冬至 ตังจี่ / ตงจื้อ)
[4] ได้แก่ วันตรุษจีน (春節) วันหง่วงเซียว (元宵節) วันเช็งเม้ง (清明節) วันไหว้ขนมบะจ่าง (端午節) วันสารทจีน (中元節) วันไหว้พระจันทร์ (中秋節) วันไหว้ขนมบัวลอย (冬至/冬節) และวันสิ้นปี (除夕)
[5] เป็นการสร้างสุสานเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อสิ้นชีวิตจะได้นำร่างมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้ ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาของเจ้าของ
[6] วันสุกดิบของปักษ์เช็งเม้ง มีงานสำคัญคือ การรับประทานอาหารเย็นชืดที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยไฟ
[7] แต่เดิมกำหนดให้เป็นวันมะเส็ง (巳日) แรกของเดือนสามตามชื่อเทศกาล ต่อมาเนื่องด้วยคนทั่วไปเข้าใจระบบปฏิทินเกษตรง่ายกว่า ราชสำนักแคว้นวุยก๊ก (魏國 ค.ศ. 220-266) ในยุคสามก๊ก (三國 ค.ศ. 220-280) จึงเปลี่ยนเป็นวันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม ในวรรณคดียุคชุนชิว (春秋 ประมาณ 770-476 ก่อนค.ศ.) ได้สะท้อนภาพเทศกาลนี้ไว้อย่างชัดเจนตอนหนึ่งว่า เป็นการเรียกขวัญตนเองให้ตื่นจากการจำศีลในฤดูหนาว และอัญเชิญวิญญาณบรรพชนที่ลอยล่องย้ายไปยังถิ่นไม่หนาวจัดและมีอาหารเพียงพอ ให้กลับมาอยู่กับลูกหลาน แล้วรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งเห็นได้จากชาวไทยเชื้อสายจีนบางกลุ่มที่ยังมีการเลือกใช้เทศกาลนี้ไปเยี่ยมเยือนสุสาน
[8] มาจากตอนหนึ่งในบรรพถามความเรื่องไว้ทุกข์สามปี《問三年》ความว่า “三年之喪,二十五月而畢”
[9] ลูกของลูกสาว ซึ่งไม่ได้ใช้นามสกุล หรือแซ่ตามตระกูลฝ่ายแม่