พินอิน 拼音

—–พินอิน (拼音) หรือฮั่นอวี่พินอิน (汉语拼音 Hànyǔ pīnyīn) คือ ระบบการถอดเสียงภาษาจีนมาตรฐานด้วยอักษรละติน (อักษรโรมัน) โดยคำว่า “พินอิน” แปลตรงตัวหมายถึง “การรวมเสียงเข้าด้วยกัน”

—–ระบบพินอินออกแบบและพัฒนาโดยคณะกรรมการปฏิรูปอักษรแห่งชาติจีนในช่วง ค.ศ. 1955-1957 ซึ่งยึดเสียงอ่านอักษรในภาษาจีนกลาง (普通话 pǔtōnghuà) เป็นต้นแบบ ต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 ทางรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศใช้ระบบพินอินอย่างเป็นทางการทั่วประเทศนอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงระบบพินอินเพื่อนำไปใช้กับภาษาถิ่นและภาษาของชนกลุ่มน้อยในประเทศอีกด้วย

—–ครั้นถึงปี ค.ศ. 1982 องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้รับรองพินอินเป็นระบบมาตรฐาน (ISO 7098) นับแต่นั้นมา พินอินจึงเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ โดยใช้ในการเรียนการสอนเป็นหลัก ทั้งในประเทศจีนและประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่มาก อาทิ สิงคโปร์, มาเลเซีย เป็นต้น

—–จุดที่พึงระวังคือ พินอินเป็นเพียงการยืมอักษรละตินมาใช้ถอดเสียงอักษรจีนเท่านั้น มิใช่การถอดเสียงเลียนแบบภาษาอังกฤษ การออกเสียงพยัญชนะและสระในระบบพินอินจึงย่อมมีความแตกต่างกับภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ระบบพินอินมีส่วนช่วยในการเรียนภาษาจีนของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้ผู้เริ่มเรียนสามารถเขียนอ่านและจดจำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในปัจจุบันพินอินยังถูกนำมาใช้ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเพื่อพิมพ์อักษรจีนอีกด้วย

—–องค์ประกอบของพินอินประกอบด้วย เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์

  1. เสียงพยัญชนะ ได้แก่ เสียงพยัญชนะต้น 23 เสียง (รวมเสียงสระกึ่งพยัญชนะ y และ w)

    • เสียงพยัญชนะ
เสียงพยัญชนะต้น เสียงพยัญชนะไทยที่ใกล้เคียง ตัวอย่าง
b 爸 bà พ่อ
p ผ, พ 爬 pá ปีน
m 马 mǎ ม้า
f ฝ, ฟ 发 fà เส้นผม
d 大 dà ใหญ่
t ท, ถ 他 tā เขา (ผู้ชาย)
n 拿 ná หยิบจับ
l 辣 là เผ็ด
g 哥 gē พี่ชาย
k ข, ค 课 kè บทเรียน
h ห, ฮ 喝 hē ดื่ม
j

แผ่นลิ้นแตะเพดานแข็งส่วนหน้าเวลาออกเสียง

鸡 jī ไก่
q ฉ, ช

แผ่นลิ้นแตะเพดานแข็งส่วนหน้าเวลาออกเสียง

七 qī เจ็ด
x ส, ซ

แผ่นลิ้นแตะเพดานแข็งส่วนหน้าเวลาออกเสียง

西 xī ตะวันตก
z

ปลายลิ้นแตะหลังฟันบนเวลาออกเสียง

字 zì อักษร
c ฉ, ช

ปลายลิ้นแตะหลังฟันบนเวลาออกเสียง

词 cí คำ
s ซ, ส

ปลายลิ้นแตะหลังฟันบนเวลาออกเสียง

四 sì สี่
zh

ปลายลิ้นม้วนขึ้นไปแตะเพดานแข็งส่วนหน้าเวลาออกเสียง

只 zhǐ แค่
ch ฉ, ช

ปลายลิ้นม้วนขึ้นไปแตะเพดานแข็งส่วนหน้าเวลาออกเสียง

吃 chī กิน
sh ซ, ส

ปลายลิ้นม้วนขึ้นไปแตะเพดานแข็งส่วนหน้าเวลาออกเสียง

事 shì เรื่อง
r ร, ย

ปลายลิ้นม้วนขึ้นไปแตะเพดานแข็งส่วนหน้าเวลาออกเสียง

日 rì วัน
y 1. ย เมื่ออยู่หน้าสระ a, e

 

牙 yá ฟัน

叶 yè ใบไม้

2. อ เมื่ออยู่หน้าสระ i, ü 一 yī หนึ่ง

鱼 yú ปลา

w 1. ว เมื่ออยู่หน้าสระ a, o

 

挖 wā ขุด

窝 wō รัง

2. อ เมื่ออยู่หน้าสระ u 五 wǔ ห้า

 

หมายเหตุ

  1. เสียงพยัญชนะพินอินในตารางเทียบเคียงกับเสียงพยัญชนะไทยที่ใกล้เคียงที่สุด
  2. การถอดเสียงพยัญชนะพินอินที่ตรงกับเสียงพยัญชนะไทยมากกว่าหนึ่งต้องพิจารณาจากเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้น เช่น pá อ่านว่า ผา, pà อ่านว่า พ่า เป็นต้น เนื่องจากพยัญชนะพินอินไม่แบ่งเป็นอักษรสูง กลาง ต่ำ เหมือนในภาษาไทย
  3. ในภาษาจีนกลางไม่มีเสียงพยัญชนะต้น บ และ ด
  4. ในภาษาจีนกลางไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด แม่กก, แม่กบ, แม่กด, แม่กม, แม่เกย, แม่เกอว

 

  1. เสียงสระ ได้แก่ เสียงสระเดี่ยว, เสียงสระประสม และเสียงสระประสมนาสิก

2.1 เสียงสระเดี่ยว มี 7 เสียง ได้แก่  a,  o,  e,  i,  u,  ü,  er

เสียงสระเดี่ยว เสียงสระภาษาไทยที่ใกล้เคียง ตัวอย่าง
a อา 茶 chá ชา
o ออ/โอ 我 wǒ ฉัน
e

 

1. เออ 渴 kě กระหายน้ำ
2. เอ เมื่ออยู่หลังพยัญชนะ y 夜 yè กลางคืน
i 1. อี เมื่อไม่มีเสียงพยัญชนะสะกดตามหลัง และเสียงพยัญชนะต้นไม่ใช่  z, c, s, zh, ch, sh และ r 笔 bǐ ปากกา

 

2. อิ เมื่อมีเสียงพยัญชนะสะกดตามหลัง และเสียงพยัญชนะต้นไม่ใช่  z, c, s, zh, ch, sh และ r 您 nín ท่าน

 

3. อือ เมื่อเสียงพยัญชนะต้นเป็น z, c, s, zh, ch, sh และ r เท่านั้น 纸 zhǐ กระดาษ
 u อู 路 lù ถนน
ü อวี (เสียงอีที่ห่อริมฝีปาก) 女 nǚ ผู้หญิง
er เออรฺ คล้ายเสียง เออ แต่ปลายลิ้นม้วนขึ้นไปแตะเพดานแข็ง 二 èr สอง

 

หมายเหตุ

  1. เสียงสระเดี่ยว e และ i จะแปรเสียงสระไปตามเสียงพยัญชนะต้น
  2. เสียงสระเดี่ยว ü สามารถประสมกับเสียงพยัญชนะต้นได้ทั้งหมด 6 เสียง ดังนี้

– n และ l เมื่อประสมกับพยัญชนะ 2 เสียงนี้ สระจะยังคงรูป ü ไว้ เนื่องจาก n และ l ยังประสมกับเสียงสระ u ได้

– j, q, x และ y เมื่อประสมกับพยัญชนะ 4 เสียงนี้ สระ ü จะลดรูปเป็น u แต่ยังคงออกเสียงเป็นสระ ü

 

2.2 เสียงสระประสม มี 13 เสียง ได้แก่  ai,  ei,  ao,  ou,  ia,  ie,  iao,  iou (iu),  ua,  uo,  uai,  uei (ui),  üe

เสียงสระประสม เสียงสระภาษาไทยที่ใกล้เคียง ตัวอย่าง
ai ไอ 百 bǎi ร้อย
ei เอย์ 飞 fēi บิน
ao เอา 老 lǎo แก่
ou โอว 走 zǒu เดิน
ia เอีย 下 xià ลง
ie อีเย 鞋 xié รองเท้า
iao เอียว 桥 qiáo สะพาน
  iou (iu) อิว 球 qiú ลูกบอล
ua วา 花 huā ดอกไม้
uo อัว 说 shuō พูด
uai ไอวฺ 快 kuài เร็ว
uei (ui) อุย 贵 guì แพง
üe เยวฺ 月 yuè พระจันทร์

 

หมายเหตุ

  1. เสียงสระประสม iou เมื่อประสมกับพยัญชนะต้น จะลดรูป o เหลือเพียง iu
  2. เสียงสระประสม uei เมื่อประสมกับพยัญชนะต้น จะลดรูป e เหลือเพียง ui
  3. เสียงสระประสม ei และ üe เกิดจากการประสมกันระหว่างเสียงสระ ê+i และ ü+ê ตามลำดับ โดยปกติแล้วเสียงสระ ê จะไม่ปรากฏอยู่เดี่ยวๆ แต่จะประสมกับเสียงสระ i และ ü เสมอ และสัญลักษณ์ ^ บน ê จะลดรูปไป
  4. เสียงสระประสม üe สามารถประสมกับเสียงพยัญชนะต้นได้ทั้งหมด 6 เสียง ดังนี้

– n และ l เมื่อประสมกับพยัญชนะ 2 เสียงนี้ สระจะยังคงรูป üe ไว้

– j, q, x และ y เมื่อประสมกับพยัญชนะ 4 เสียงนี้ สระ üe จะลดรูปเป็น ue

 

2.3 เสียงสระประสมนาสิก มี 16 เสียง ได้แก่  an,  en,  ang,  eng,  ian,  in,  iang,  ing,

uan,  uen (un),  uang,  ueng,  ong,  üan,  ün,  iong

 

เสียงสระประสมนาสิก เสียงสระภาษาไทยที่ใกล้เคียง ตัวอย่าง
an อัน/อาน 半 bàn ครึ่ง
en เอิน 盆 pén กระถาง
ang อัง/อาง 汤 tāng น้ำแกง
eng เอิง 城 chéng เมือง
ian เอียน 先 xiān ก่อน
in อิน 心 xīn ใจ
iang เอียง 枪 qiāng ปืน
ing อิง 请 qǐng เชิญ
uan อวน 船 chuán เรือ
uen (un) อุน 轮 lún ล้อ
uang อวง 黃 huáng เหลือง
ueng เวิง 翁 wēng ชายชรา
ong อง 龙 lóng มังกร
üan เอวียน 犬 quǎn สุนัข
ün อวิน 群 qún ฝูง
iong อียง 兄 xiōng พี่ชาย

 

หมายเหตุ

  1. เสียงสระประสมนาสิก uen เมื่อประสมกับพยัญชนะต้น จะลดรูป e เหลือเพียง un
  2. เสียงสระประสมนาสิก ueng ไม่สามารถประสมกับเสียงพยัญชนะต้นตัวใดได้ ในการเขียน รูปสระ ueng จะเปลี่ยนเป็น weng
  3. เสียงสระประสมนาสิก üan และ ün สามารถประสมกับพยัญชนะต้นได้ทั้งหมด 4 เสียง

ได้แก่ j, q, x และ y  โดยเมื่อประสมกับเสียงพยัญชนะต้นแล้ว รูปสระ üan กับ ün จะลดรูปเป็น uan กับ un

 

ข้อสังเกต

การเขียนสระพินอินที่ไม่ประสมกับเสียงพยัญชนะต้นมีกฎดังนี้

  1. หากสระ i, in, ing ไม่มีเสียงพยัญชนะต้น ให้เติม y ไว้ด้านหน้า เป็น yi, yin, ying
  2. หากสระ ia, iao, ie, iou, ian, iang, iong ไม่มีเสียงพยัญชนะต้น ให้เปลี่ยน i เป็น y จะได้ ya, yao, ye, you, yan, yang, yong
  3. หากสระ u ไม่มีเสียงพยัญชนะต้น ให้เติม w ไว้ด้านหน้า เป็น wu
  4. หากสระ ua, uo, uai, uei, uan, uen, uang, ueng ไม่มีเสียงพยัญชนะต้น ให้เปลี่ยน u เป็น w จะได้ wa, wo, wai, wei, wan, wen, wang, weng
  5. หากสระ ü, üe, üan, ün ไม่มีเสียงพยัญชนะต้น ให้เติม y ไว้ด้านหน้าและตัดจุดด้านบน ü

ออก เป็น yu, yue, yuan, yun

  1. คำศัพท์บางคำมีพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วยเสียงสระ a, o, e ตามหลังพยางค์อื่น เมื่อเขียนเป็นพินอินจะทำให้เกิดความคลุมเครือจนสะกดเสียงพยางค์ได้ไม่ชัดเจน ให้ใช้เครื่องหมายคั่นเสียง (’) มาคั่นระหว่างพยางค์ เช่น

饥饿  jī’è  หิวโหย – 借 jiè  ยืม       西安 Xī’ān เมืองซีอาน – 先 xiān ก่อน

 

  1. เสียงวรรณยุกต์ มีทั้งหมด 4 เสียง ได้แก่

เสียง 1 (阴平 yīnpíng ใกล้เคียงกับเสียงสามัญหรือเสียงตรีในภาษาไทย)

เสียง 2 (阳平 yángpíng ใกล้เคียงกับเสียงจัตวาในภาษาไทย)

เสียง 3 (上声 shǎngshēng ใกล้เคียงกับเสียงเอกในภาษาไทย)

เสียง 4 (去声 qùshēng ใกล้เคียงกับเสียงโทในภาษาไทย)

          ระดับเสียงวรรณยุกต์ในภาษาจีน

หมายเหตุ

  1. คำในภาษาจีนบางคำอ่านออกเสียงเบา (轻声 qīngshēng) ซึ่งเป็นเสียงที่สั้นและเบากว่าปกติ เช่น 爸爸 bàba, 妈妈 māma เป็นต้น
  2. แม้เสียงวรรณยุกต์จีนและไทยจะพอเทียบเคียงกันได้ แต่ระดับเสียงที่ต้นเสียงและปลายเสียงของ วรรณยุกต์ทั้ง 2 ภาษายังมีความแตกต่างกัน
  3. การกำกับรูปวรรณยุกต์จะใส่บนสระเท่านั้น แต่หากมีสระหลายตัวในหนึ่งพยางค์ให้ใส่บนสระ a, o, e, i, u, ü ตามลำดับ ยกเว้น สระประสม iu ที่ใส่รูปวรรณยุกต์ที่ u เสมอ

 

***เทคนิคช่วยจำ***

มี a ใส่ที่ a, ไม่มี a หา o e, i u คู่กันใส่ตัวหลัง, สระตัวเดียวง่ายจังใส่ได้เลย

 

ข้อสังเกต

การออกเสียงวรรณยุกต์มีข้อยกเว้นดังนี้

  1. หากคำที่มีเสียง 3 อยู่ติดกัน เช่น 你好 nǐhǎo สวัสดี ให้เปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์คำหน้าเป็นเสียง 2 โดยอ่านว่า níhǎo แต่ในการเขียนคำยังคงรูปวรรณยุกต์เดิมไว้
  2. หากคำที่มีเสียง 3 อยู่ติดกันสามคำ เช่น 我想你 wǒ xiǎng nǐ ฉันคิดถึงคุณ เวลาอ่านสามารถออกเสียงได้ 2 แบบ คือ wǒ xiáng nǐ หรือ wó xiáng nǐ ก็ได้ แต่ในการเขียนคำยังคงรูปวรรณยุกต์เดิมไว้
  3. หากคำว่า 不 bù ไม่ และ 一 yī หนึ่ง อยู่หน้าพยางค์เสียง 4 เวลาอ่านจะกลายเสียงเป็น bú และ yí เช่น 不是  bú shì, 一个 yí gè
  4. หากคำว่า 一 yī หนึ่ง อยู่หน้าพยางค์เสียง 1 เสียง 2 และเสียง 3 เวลาอ่านจะออกเสียงเป็น yì เช่น 一天 yì tiān, 一年 yì nián, 一起 yìqǐ

 

ตารางพินอิน

 

เรียบเรียงโดย อาศรมสยาม-จีนวิทยา