ทุพภิกขภัยปีติงอู้ (丁戊) กับพลังของชาวจีนโพ้นทะเลในการช่วยเหลือมาตุภูมิ

เรื่องโดย พลพัธน์ ภูรีสถิตย์


ความเดือดร้อนในสภาพต่างๆ ของราษฎรจีนเนื่องจากทุพภิกขภัยปีติงอู้ (丁戊奇荒) ในหนังสือพิมพ์ The Graphic ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1878

“…ข้าพระพุทธเจ้าเปนที่เปี่ยโป๋ซี่หนึ่ง ว่าราชการบู๊อิ้ เมืองพาเกี้ยน ชื่อเยียดเซียดแซ่เตง ขอแจ้งความมายังพระยาโชฎึกราชเสรฐี หลวงพิสารผลภานิช ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งหลีฮองเจียงเสนาบดี

ด้วยเมืองซัวไซ[1]ฝนแล้งมาสองปีแล้ว ราษฎรต้องทุพภิกขไภยถึง ๗๐ หัวเมืองเสศ ซึ่งคนอดอยากอยู่ในเมืองซัวไซ ๗๐ เมืองเสศนั้น คนถึงสี่ร้อยหมื่นคนเสศ ไม่มีเข้าจะรับประทานเลย ต้องรับประทานแต่เปลือกไม้ ใบไม้ รากไม้ จนหมดจนสิ้น

ภายหลังมาได้รับประทานแต่ฝุ่นแต่ดินทนอยู่ได้ถึง ๓ วัน ๔ วัน ตายไปก็มาก…[2]

(คงอักขรวิธีแบบเดิมตามต้นฉบับ)

——ข้อความดังกล่าวมาจากประกาศ “ว่าด้วยการเรี่ยไรเลี้ยงคนอดเข้า” ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 5 นัมเบอร์ 121 วันอาทิตย์ เดือน 8 แรม 7 ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก (จ.ศ.) 1240 (ตรงกับค.ศ. 1878) แผ่นที่ 16 ซึ่งสะท้อนภาพทุพภิกขภัยประหลาดแห่งปีติงอู้ (丁戊奇荒)[3] วิกฤตการณ์ร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน อันเนื่องมาแต่ฉาตกภัยหรือภัยแล้งจนเพาะปลูกไม่ได้ผลในมณฑลทางภาคเหนืออย่างยืดเยื้อ ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง ราษฎรอดอยากล้มตายจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่มณฑลซานซี (山西) และเหอหนาน (河南) ซ้ำร้ายทุพภิกขภัยครั้งนี้ยังนำมาซึ่งพฤติการณ์อันชวนให้รู้สึกสังเวชใจ

——ประกาศเรี่ยไรช่วยเหลือคนอดข้าวและข่าวของหนังสือพิมพ์ The Graphic ในอังกฤษ ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1878 บอกเล่าเรื่องราวของราษฎรซึ่งประสบทุพภิกขภัยอย่างสอดคล้องกันว่า ชีวิตอันแร้นแค้นทำให้ผู้คนต้องกินซากศพ เปลือกไม้ กระทั่งฝุ่นดินแทนอาหาร บ้างฆ่าตัวตายหนีความลำบาก คนยากคนจนต้องขายลูกไปเป็นบ่าวในบ้านผู้มีอันจะกิน คนแก่หรือเด็กที่ร่างกายอ่อนแอต่างก็ล้มตาย หนังสือพิมพ์ Press ในนิวซีแลนด์ ฉบับวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1878 รายงานว่า ขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่กำลังเผชิญหายนะ พ่อค้าท้องถิ่นแค่หยิบมือเดียวกลับร่ำรวยขึ้นด้วยการเอารัดเอาเปรียบ อีกทั้งพ่อค้ากับขุนนางยังร่วมมือกันทุจริตสิ่งของช่วยเหลือทุพภิกขภัยจากส่วนกลางด้วย จนชาวจีนและชาวตะวันตกที่พำนักในจีนพากันตั้งคำถามถึงระบบบริหารจัดการของรัฐบาลราชสำนักชิง

หนังสือพิมพ์ Press ออกในนิวซีแลนด์ ฉบับวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1878 รายงานข่าวเรื่องทุพภิกขภัยในจีนภาคเหนือ (Famine In Northern China)

——ระหว่างที่เกิดทุพภิกขภัย ราชสำนักชิงกำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจากการทำสงครามยืดเยื้อเพื่อปราบกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว (太平天國) และกบฏชาวเหนียน (捻軍) ในภาคเหนือ เป็นเหตุให้เงินทองในท้องพระคลังร่อยหรอ ไม่เพียงพอแก่การจัดสรรเพื่อบรรเทาภัยพิบัติ ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงเป็นการระดมเงินบริจาคช่วยเหลือจากกลุ่มบุคคลภายนอกถึงสามทาง ได้แก่

——ทางแรก กองทุนบรรเทาทุพภิกขภัยในจีน (China Famine Relief Fund) ซึ่งก่อตั้งเมื่อค.ศ. 1878 โดยความร่วมมือระหว่างนักการทูตชาวอังกฤษ หมอสอนศาสนา กับพ่อค้านักธุรกิจทั้งในอังกฤษและในจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน กองทุนนี้มีบทบาทสำคัญในการเรี่ยไรเงินจากเมืองต่างๆ ทั้งในจีนและในต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย กองทุนนี้สามารถระดมเงินบริจาคได้หลายแสนตำลึงจีน โดยมุ่งช่วยเหลือคนอดอยากในซานซีเป็นพิเศษ

——ทางที่สอง กลุ่มปัญญาชนจีนและนักธุรกิจผู้มีทุนทรัพย์ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือภาพเล่มเล็กบอกเล่าทุกขเวทนา เพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ซานตงและเหอหนาน คนกลุ่มนี้วิตกกังวลว่าพวกหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกอาจถือโอกาสชักชวนชาวบ้านให้ล้างบาป และไถ่เด็กกำพร้าไปชุบเลี้ยงแล้วพูดจูงใจให้เข้ารีตภายหลัง จึงดำเนินการด้านมนุษยธรรม ทั้งไถ่ตัวเด็กที่ถูกขายไปตามบ้านคหบดีและตั้งสถานสงเคราะห์ขึ้นเองด้วย

——ทางที่สาม บรรดาพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งราชสำนักชิงเคยตั้งแง่รังเกียจว่าเป็นคนไม่รักชาติและทอดทิ้งแผ่นดินบรรพชน แต่ในเวลานี้ พวกเขาคือกลุ่มบุคคลซึ่งราชสำนักต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง

 

การออกเรี่ยไรในต่างแดนและพลังของชาวจีนโพ้นทะเล

——ราชสำนักชิงเริ่ม “สานสัมพันธ์” กับชาวจีนและลูกหลานจีนโพ้นทะเลอย่างเป็นทางการก่อนที่ทุพภิกขภัยจะอยู่ในขั้นวิกฤตไม่นาน คือเดือนตุลาคม ค.ศ. 1877 ราชสำนักมอบหมายให้กัวซงเทา (郭嵩燾  ค.ศ. 1818–1891) ราชทูตจีนประจำสหราชอาณาจักรก่อตั้งสถานกงสุลจีนประจำสิงคโปร์ขึ้น เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชุมชนชาวจีนในสิงคโปร์  และที่สำคัญคือเพื่อฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นไปด้วยแนวคิดต่อต้านชาวจีนโพ้นทะเลของราชสำนักเองในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น

หลี่หงจาง

——เมื่อภัยแล้งและทุพภิกขภัยในมณฑลภาคเหนือของจีนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ หลี่หงจาง (李鴻章 ค.ศ. 1823–1901) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลจื๋อลี่ (直隸省) และเป็นขุนนางผู้มีบทบาทในด้านกิจการต่างประเทศของราชสำนักชิง ได้มอบหมายให้ติงรื่อชาง (丁日昌 ค.ศ.1823–1882) ผู้ตรวจราชการมณฑลฮกเกี้ยน (福建省 ฝูเจี้ยน) ส่งคนไปขอรับการสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเลโดยเร่งด่วน เนื่องจากภูมิลำเนาเดิมของติงรื่อชางเป็นคนอำเภอเฟิงซุ่น (豐順) จังหวัดแต้จิ๋ว (潮州 เฉาโจว) ในมณฑลกวางตุ้ง (廣東 กว่างตง) พื้นที่มณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้งเป็นพื้นที่ซึ่งมีชาวจีนอพยพไปทำมาหากินยังต่างประเทศมากที่สุดในขณะนั้น ดังนั้นติงรื่อชางจึงมีสายสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายพ่อค้าจีนจากสองมณฑลนี้ในฮ่องกง ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ติงรื่อชาง

——ติงรื่อชางได้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาเดินทางไปยังฮ่องกง รวมทั้งดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีชาวจีนย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตั้งรกรากอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ฟิลิปปินส์ สยาม สิงคโปร์ เวียดนาม ฯลฯ เพื่อเรี่ยไรเงินช่วยเหลือภัยพิบัติจากชาวจีนโพ้นทะเล ในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ของติงรื่อชางได้เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการสมาคมจีนแต้จิ๋วแห่งสิงคโปร์ (南洋潮州會館) ส่วนในสยาม เจ้าหน้าที่สองคนของติงรื่อชางสองนายคือเฉินจ้านอ๋าว (陳占鰲) และเฉินอี้ (陳義) พยายามติดต่อพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก ต้นสกุลโชติกะพุกกณะ) และหลวงพิศาลผลพานิช (กอจีนสือ พิศาลบุตร) ผู้นำชุมชนชาวจีน ขอเรี่ยไรเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพ่อค้าจีนในสยาม  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองจัดการเรี่ยไรพ่อค้าจีนได้ตามประสงค์

——การเรี่ยไรครั้งนั้นบรรลุผลตามเป้า ที่ฮ่องกง คณะกรรมการโรงพยาบาลตงหัว (東華三院) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของพ่อค้าจีน บริจาคเงินช่วยเหลือทุพภิกขภัยเป็นจำนวนถึง 160,000 หยวน ส่วนพ่อค้าจีนโพ้นทะเลที่สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ สยาม เวียดนามต่างก็บริจาคเงินช่วยเหลือรวมกันกว่า 30,000 หยวน ในสิงคโปร์ สมาคมแต้จิ๋วเป็นสมาคมที่บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีผู้ที่บริจาคเสบียงเพื่ออุดหนุนจุนเจือผู้ประสบภัยอีกไม่น้อย

——ราชสำนักชิงตอบแทนการบริจาคเงินและสิ่งของจำนวนมหาศาลของชาวจีนโพ้นทะเลครั้งนั้นด้วยการพระราชทานป้ายสดุดีเกียรติคุณจากพระจักรพรรดิกวงซี่ว์ (光緒 ค.ศ.1871–1908) แก่โรงพยาบาลตงหัวในฮ่องกง ทางโรงพยาบาลได้อัญเชิญมาแขวนไว้ในห้องโถงใหญ่ของอาคารทำการ ปัจจุบัน โรงพยาบาลตงหัวได้บูรณะป้ายดังกล่าว และอัญเชิญไปแขวนที่วัดเหวินอู่  (文武廟) แทน ขณะพระราชทานป้ายไปยังชาวจีนโพ้นทะเลนั้น เป็นช่วงที่สถานการณ์ทุพภิกขภัยในภาคเหนือของจีนได้บรรเทาลงแล้ว

ป้ายสดุดีเกียรติคุณที่พระราชทานแก่คณะกรรมการโรงพยาบาลตงหัว ฮ่องกง ภาพจาก www.hkmemory.hk

——ทุพภิกขภัยปีติงอู้คลี่คลายเมื่อฝนเริ่มตกโปรยปรายในพื้นที่ประสบภัยกลางปี 1879 ผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นคือการลดลงของจำนวนประชากรในชนบท สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของประชากรในเมืองเนื่องด้วยมีผู้อพยพเข้ามาหลังจากเกิดภัยพิบัติ ส่วนราษฎรก็สั่งสมความไม่พอใจต่อขุนนางผู้ทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวงไว้ อีกทั้งราชสำนักไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่บรรดาหมอสอนศาสนาก็เริ่มขยายงานเผยแผ่ศาสนาในมณฑลภาคเหนือ นอกเหนือจากบทบาทของพวกเขาในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

——นอกแผ่นดินจีน การเกิดขึ้นของทุพภิกขภัยปีติงอู้กลายเป็นเหตุการณ์ซึ่งปลุกสำนึกรักบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นผลให้ชาวจีนโพ้นทะเลเพิ่มพูนพลังการบริจาคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราชสำนักก็ตระหนักถึงความสำคัญและพลังรักชาติของชาวจีนโพ้นทะเล พลังเงินบริจาคของชาวจีนโพ้นทะเลเลยเป็นปัจจัยที่อุดหนุนกิจการภายในของจีนจนเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ทุพภิกขภัยปีติงอู้จึงมีมิติทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายด้าน ทั้งมิติ “ภายใน” และ “ภายนอก” จนอาจกล่าวได้ว่า ทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 200 ปีนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในเชิงลบและเชิงบวกต่อราชสำนักชิง

 


[1] ออกเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นฮกเกี้ยน สำเนียงภาษาจีนกลางคือซานซี (山西)

[2] ข้อมูลจากห้องสมุดส่วนตัวของคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

[3] คำว่า “ติงอู้” (丁戊) มาจากช่วงเวลาที่ทุพภิกขภัยครั้งนี้รุนแรงสุดขีด คือระหว่างปีติงโฉ่ว (丁丑年 ค.ศ. 1877) กับปีอู้อิ๋น (戊寅年ค.ศ. 1878) ตามปฏิทินแบบจีน