“น่านเจ้า” อาณาจักรโบราณที่เลือนหาย
เรื่องโดย หยาดฟ้า
——นับแต่สมัยราชวงศ์ฉินเป็นต้นมา ชาวจีนจงหยวน (中原)[1] มักอ้างเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “จวงเชียวรู่เตียน” (莊蹻入滇)[2] เพื่อถือสิทธิ์ครอบครองดินแดนยูนนาน (雲南)[3] ทว่าในทางภูมิศาสตร์ ดินแดนยูนนานอยู่ห่างจงหยวนมาก จักรพรรดิจึงมิอาจปกครองโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จได้ อีกทั้งมีอาณาจักรน่านเจ้า (南詔國) ซึ่งเคยแผ่อิทธิพลไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ผงาดขึ้นเป็นรัฐอิสระทรงพลังในอาณาบริเวณนี้ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618–907)
——“น่านเจ้า” เป็นอาณาจักรโบราณที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นในยูนนานเมื่อ ค.ศ. 738 และล่มสลายไปเมื่อ ค.ศ. 902 มีอาณาเขตอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทว่านักประวัติศาสตร์บางกลุ่มก็นับช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายก่อนการสถาปนาอาณาจักรต้าหลี่ (大理國 ค.ศ. 937–1094, 1096–1254) เป็นช่วงเวลาแห่งอำนาจปกครองของน่านเจ้าด้วย ข้อมูลบางแห่งจึงอ้างว่าอาณาจักรน่านเจ้ายืนยงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์จีนเป็นเวลาเกือบ 200 ปี
-
กำเนิด “อาณาจักรน่านเจ้า”
——ก่อนที่อาณาจักรน่านเจ้าจะได้รับการสถาปนานั้น พื้นที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ (洱海) มีกลุ่มอำนาจรัฐน้อยใหญ่ครอบครองอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7–8 แต่ที่สำคัญมี 6 กลุ่ม ได้แก่
- เหมิงกุยเจ้า (蒙巂詔 ไม่ทราบปีที่เกิด–ค.ศ. 730) ก่อตั้งโดยบรรพชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไท (傣族) มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำย่างปี้ (漾濞江) และทางทิศตะวันตกของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่
- เย่ว์ซีเจ้า (越析詔 ไม่ทราบปีที่เกิด–ค.ศ. 747) ก่อตั้งโดยบรรพชนของกลุ่มชาติพันธุ์น่าซี (納西族) ซึ่งตั้งรกรากอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ ปัจจุบันคืออำเภอปินชวน (賓川)
- ลั่งฉงเจ้า (浪穹詔 ไม่ทราบปีที่เกิด–ค.ศ. 794) ก่อตั้งโดยกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ ปัจจุบันคืออำเภอเอ่อร์หยวน (洱源)
- เถิงส่านเจ้า (邆睒詔 ไม่ทราบปีที่เกิด–ค.ศ. 794) ก่อตั้งโดยกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ ปัจจุบันคืออำเภอเติ้งชวน (鄧川)
- ซือลั่งเจ้า (施浪詔 ไม่ทราบปีที่เกิด–ค.ศ. 794) ก่อตั้งโดยกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น มีอาณาเขตติดกับรัฐลั่งฉงเจ้า แต่ครอบคลุมดินแดนตอนเหนือ คืออำเภอเจี้ยนชวน (劍川) ในปัจจุบันด้วย
- เหมิงเซ่อเจ้า (蒙舍詔 ไม่ทราบปีที่เกิด–902) รัฐที่ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ ปัจจุบันคืออำเภอเวยซาน ตามเอกสารโบราณของชนเผ่าอี๋ (彝族) บันทึกไว้ว่า “เหมิงเซ่อ” (蒙舍) แปลว่า “ราชาไผ่ทองคำ” (金竹王) คำว่า “เหมิง” เดิมเป็นนามสกุลพระราชทานในราชสำนักถัง (唐 ค.ศ. 618–907) แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เหมิงเซ่อเจ้าเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจที่สุดในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น ต่อมาได้ผนวกกลุ่มอำนาจรัฐอื่นๆ ไว้แล้วสถาปนาเป็น “อาณาจักรน่านเจ้า” เมื่อ ค.ศ. 738
——คำว่า “น่านเจ้า” ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “หนานเจ้า” (南詔) เจริ่น จร่อง กิม (Trần Trọng Kim ค.ศ. 1883–1953) นักการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวเวียดนามผู้เชี่ยวชาญเรื่องน่านเจ้า ให้อรรถาธิบายไว้ว่า “ผู้คนในบริเวณนี้เรียกกษัตริย์ว่าเจ้า” “เหมิงเซ่อเจ้าตั้งอยู่ทางใต้ จึงเรียกว่าหนานเจ้า” อนึ่ง เอกสารวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์เวียดนาม”《越南歷史》ก็ระบุด้วยว่า “เจ้า” เป็นตำแหน่งผู้นำรัฐ จึงเป็นที่มาของชื่อ “น่านเจ้า” อันหมายถึง เจ้าทางใต้ หรือ ผู้ปกครองทางใต้ นอกจากนี้ อาณาจักรโบราณ “น่านเจ้า” ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น “เฮ่อทั่ว” (鶴拓) “หลงเหว่ย” (龍尾) “จีว์เมีย” (苴咩) และ “หยางเจี้ยน” (陽劍) ในช่วงที่น่านเจ้าเรืองอำนาจก็เปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้ง ทว่าไม่แพร่หลายนัก
——ปัจจุบันที่มณฑลยูนนานยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มอ้างว่าพวกตนมีบรรพชนเป็นชาวน่านเจ้า เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ไท กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ และกลุ่มชาติพันธุ์ไป๋ (白族) ฯลฯ นักวิชาการท้องถิ่นในต้าหลี่บางคนสนับสนุนสมมุติฐานที่ว่าชาวน่านเจ้าเป็นบรรพชนของ “ชาวไป๋” หากแต่ทางการยังคงยึดมั่นในข้อมูลที่ว่าชาวน่านเจ้าคือบรรพชนของ “ชาวอี๋” ส่วนในประเทศไทยก็เคยมีผู้เสนอสมมุติฐานที่ว่าคนในอาณาจักรน่านเจ้าน่าจะเป็นคนไทยหรือบรรพชนของคนไทยในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะมีคนไทอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก ทว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังขาดน้ำหนักอันควรแก่การเชื่อถือ
——บรรดากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่รอบทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ในสมัยโบราณต่างเป็นรัฐอิสระ แม้บางกลุ่มมีบรรพบุรุษเป็นพี่น้องกัน แต่ก็แก่งแย่งทรัพยากรและผลประโยชน์กัน คนต่างถิ่น เช่น ชาวจีนจงหยวน ชาวถู่โป (吐蕃ปัจจุบันคือทิเบต) ที่เข้าไปค้าขายและผูกมิตรก็มักยุแยงให้แต่ละฝ่ายผิดใจกัน เมื่อเหมิงเซ่อเจ้าซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจยิ่งกว่ากลุ่มอื่นๆ เข้ามาสวามิภักดิ์ราชสำนักถังจนได้รับการหนุนหลัง จึงลงมือกำจัดกลุ่มอื่นๆ และทยอยยึดครองดินแดนมาเป็นของตน โดยมี “ผีหลัวเก๋อ” (皮邏閣พีล่อโก๊ะ ค.ศ. 697–748) ผู้นำกลุ่มเหมิงเซ่อเจ้าเป็นประมุขคนแรกของอาณาจักรน่านเจ้า แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งก็มองว่า ซี่หนูหลัว (細奴邏สีนุโล ค.ศ. 617–674) ผู้ก่อตั้งกลุ่มเหมิงเซ่อเจ้าควรได้ครองตำแหน่ง “ผู้สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้า” มากกว่า เพราะเขาเป็นผู้ออกอุบายให้อ่อนน้อมต่อราชสำนักถัง เพื่อรับมือกองกำลังถู่โปที่รุกรานจากทางฝั่งตะวันตก
——ใน ค.ศ. 738 ตรงกับรัชศกไคหยวน (開元) แห่งราชวงศ์ถัง หลังจากกลุ่มเหมิงเซ่อเจ้าผนวกดินแดนทั้ง 6 รัฐได้สำเร็จ จักรพรรดิถังเสวียนจง (唐玄宗ค.ศ. 685–762) ก็มีพระราชโองการแต่งตั้งพีล่อโก๊ะเป็นกษัตริย์แห่งยูนนาน (雲南王) พร้อมกับพระราชทานนามว่า “กุยอี้” (歸義กลับสู่ความถูกต้องชอบธรรม) เป็นการสถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นในอาณาบริเวณรอบทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ และได้ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองไท่เหอ (太和城ปัจจุบันคือเมืองต้าหลี่) ต่อมาในค.ศ. 748 พีล่อโก๊ะสวรรคต จักรพรรดิถังเสวียนจงจึงแต่งตั้งเก๋อหลัวเฟิ่ง (閣羅鳳โก๊ะล่อฝง ค.ศ. 712–779) โอรสของพีล่อโก๊ะเป็นกษัตริย์แห่งยูนนานสืบไป
-
การปกครองอาณาจักรน่านเจ้า
——การสืบทอดอำนาจปกครองของอาณาจักรน่านเจ้า นับแต่พีล่อโก๊ะได้ผนวกกลุ่มรัฐอิสระทั้ง 6 เป็นต้นมา มีผู้ปกครองทั้งหมด 13 พระองค์ โดยสืบเชื้อสายทางบิดา

ลำดับการสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลน่านเจ้า
——ในด้านการปกครอง น่านเจ้าเป็นรัฐพุทธศาสนา ราชสำนักจึงส่งเสริมพุทธศาสนาเพราะเชื่อว่าช่วยกล่อมเกลาจิตใจราษฎร ทำให้ปกครองได้ง่าย ทั้งนี้ ด้วยการอุปถัมภ์ทั้งด้านการเมืองและการทหารของราชสำนักถัง อาณาจักรน่านเจ้าได้จัดระบบการปกครองตามแบบราชวงศ์ถัง โดยแบ่งการบริหารออกเป็น 6 กรม คือ 1.กรมพระกลาโหม (兵曹) 2.กรมมหาดไทย (戶曹) 3.กรมท่า (客曹) 4.กรมเมื อง (刑曹) 5.กรมโยธาธิการ (工曹) 6.กรมพระคลัง (倉曹) แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกับราชวงศ์ถัง เช่น แต่งตั้งขุนนางชิงผิง (清平官) ซึ่งเทียบเท่ามหาเสนาบดีราชวงศ์ถังจำนวน 6 ตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่าการร่วมกับแม่ทัพใหญ่ (大軍將) 12 ตำแหน่ง จากนั้นส่งต่ออำนาจและนโยบายไปยังขุนนางท้องถิ่นที่เรียกว่า “เจี๋ยตู้สื่อ” (節度使 ผู้บัญชาการทหารท้องถิ่น) จึงสามารถจัดการปัญหาบ้านเมืองและจัดตั้งหน่วยงานในระดับต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถึงกระนั้น กษัตริย์แห่งน่านเจ้าก็ยังทรงอำนาจสูงสุดในอาณาจักรแห่งนี้
——อนึ่ง น่านเจ้ายังมีกองทัพที่แกล้วกล้าเกรียงไกร ยึดมั่นในวินัยทหาร สู้รบเก่งกาจ ขึ้นชื่อเรื่องพละกำลังและความองอาจ ตามที่ระบุในบันทึกประวัติศาสตร์ถัง “ซินถังซู หมวดหนานหมาน ภาคต้น” 《新唐書·南蛮上》ความว่า “ชายหญิงกล้าหาญว่องไว ควบอาชาได้โดยมิใช้อาน ชำนาญใช้หอกแลกระบี่” (男女勇捷,不鞍而騎,善用矛劍) “จดหมายเหตุหมานซู”《蠻書》หรือ “บันทึกยูนนาน” 《雲南誌》โดยฝานชั่ว (樊绰) แม่ทัพสมัยราชวงศ์ถัง ก็บันทึกไว้ว่า “น่านเจ้าเป็นรัฐกึ่งทหารที่ปกครองโดยชนเผ่าที่ไม่ใช่ฮั่น” กล่าวคือ ชายชาวน่านเจ้าทุกคนเป็นทั้งเกษตรกรและทหาร แบ่งเวลาทำไร่นาตามฤดูการผลิตและเก็บเกี่ยวควบคู่กับฝึกทหาร ยามต้องออกศึกก็เตรียมตัวไว้พร้อมพรักเสมอ
——ด้วยการปกครองที่เป็นระบบระเบียบ อาณาจักรน่านเจ้าจึงเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในยุครุ่งเรือง อาณาเขตของน่านเจ้าครอบคลุมดินแดนอันไพศาล ทิศเหนือจรดแม่น้ำต้าตู้ (大渡河แม่น้ำสายหลักในมณฑลเสฉวนปัจจุบัน) ทิศใต้จรดรัฐฉานของพม่าและภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน ทิศตะวันออกจรดมณฑลกุ้ยโจว (貴州) และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี (แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลจากเหนือจรดใต้ผ่านพม่า) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจรดอาณาจักรถู่โป ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดมณฑลเสฉวน (四川) ทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดอันนัม (安南 ปัจจุบันคือเวียดนามเหนือ) นอกจากนั้นยังมีระบบบรรณาการโดยเฉพาะตามแนวทางของราชสำนักถังที่ปฏิบัติต่อรัฐที่เป็นประเทศราช
——แม้น่านเจ้าจะยอมอยู่ใต้อำนาจราชสำนักถัง และถือเป็นพันธมิตรร่วมรักษาความสงบในยูนนานอันเป็นหลักประกันความมั่นคงทางชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของราชวงศ์ถัง ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ถังกับน่านเจ้ากลับดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ประมุขทั้งสองฝ่ายต่างปรับเปลี่ยนท่าทีและนโยบายปฏิบัติตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาเพราะเหตุที่มีความระแวงซึ่งกันและกัน ประกอบกับ “ถู่โป” ก็คอยกดดันด้วยอิทธิพลทหาร หรือยุแหย่ให้แตกสามัคคีกันอยู่เป็นประจำ แต่เนื่องจากน่านเจ้ามีพื้นที่ติดกับทิเบตและไกลจากจงหยวน จึงจำต้องปรับตัวเข้าหารัฐมหาอำนาจทั้งสอง จนเกิดเป็นความสัมพันธ์แบบไตรภาคีระหว่างถัง น่านเจ้า กับถู่โป
——ในขณะที่กำลังถ่วงดุลแห่งอํานาจของสองรัฐใหญ่ น่านเจ้าก็พยายามหาช่องทางขยายอำนาจของตนไปด้วย เมื่อราชสำนักถังอ่อนแอและต้องแก้ปัญหากบฏ น่านเจ้าจึงถือโอกาสสถาปนาเมืองใหม่ โดยสร้างเมืองคุนหมิงเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ในค.ศ. 764 เมื่อถู่โปเรืองอำนาจและยกทัพมารุกราน น่านเจ้าก็หันไปจับมือกับราชสำนักถังเพื่อต่อต้านถู่โป บางช่วงก็ร่วมมือกับถู่โปแล้วแข็งข้อต่อตีถัง จนถูกตั้งฉายาล้อเลียนว่า “หมานสองหัว” (雙頭蠻) การที่น่านเจ้าสามารถผนึกกำลังกับถู่โปนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะครั้งหนึ่งน่านเจ้าเคยได้รับนามพระราชทานจากถู่โปว่า “จั้นผู่จง” (贊普鐘) และนำมาใช้เป็นชื่อรัชศก นามนี้เป็นภาษาทิเบต แปลว่า “อนุชาของประมุขแห่งถู่โป” ทั้งสองรัฐนี้จึงถือว่าเป็นพี่น้องกัน และสามารถร่วมมือกันก่อกวนชายแดนราชวงศ์ถังได้
——ใน ค.ศ. 897 ขุนนางชิงผิงเจิ้งไหม่ซื่อ (鄭買嗣 ค.ศ. 860–909) ลอบปลงพระชนม์กษัตริย์หลงซุ่น (隆舜 ลุงชุน ค.ศ. 861–897) และแต่งตั้งซุ่นฮว่าเจิน (舜化貞ชุนวาเชง ค.ศ. 878–902) ขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาค.ศ. 902 กษัตริย์ชุนวาเชงสวรรคต มีข่าวลือว่าเจิ้งไหม่ซื่อเป็นผู้ปลงพระชนม์ ทั้งยังสำเร็จโทษพระโอรสรวมทั้งเครือญาติกว่า 800 คนของราชวงศ์น่านเจ้าจนหมดสิ้น อาณาจักรน่านเจ้าจึงถึงคราวล่มสลาย ส่วนเจิ้งไหม่ซื่อก็สถาปนาอาณาจักรต้าฉางเหอ (大長和國 ค.ศ. 902–928) ขึ้นแทน
——นักประวัติศาสตร์จีนมองว่า อาณาจักรน่านเจ้าเป็นรัฐอิสระที่สำคัญทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งดำรงอยู่คู่กับอำนาจของราชวงศ์ถังแห่งจงหยวน น่านเจ้าได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์แบบท้องถิ่นยูนนาน อิทธิพลของน่านเจ้าช่วยกระตุ้นการค้าขายข้ามแดนระหว่างอินเดียกับจีน รวมถึงการค้าในท้องถิ่นตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางค้าใบชาโดยคาราวานม้าที่เริ่มต้นในยุคน่านเจ้า หรือ “ฉาหม่ากู่เต้า” (茶馬古道) ได้เปิดช่องทางแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประชาชนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนยุคโบราณ
-
น่านเจ้าในปัจจุบัน
——เวยซาน (巍山) เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรน่านเจ้านานถึง 89 ปี เมืองเล็กๆ ในหุบเขาแห่งนี้มีชาวบ้านที่อ้างว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์น่านเจ้าตั้งรกรากอยู่ มีเรื่องเล่าว่าเมื่ออาณาจักรน่านเจ้าล่มสลาย สตรีในราชสำนักกลุ่มหนึ่งได้หนีขึ้นไปซ่อนตัวบนภูเขาซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปราว 40 กิโลเมตร และได้เก็บเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของน่านเจ้าไว้เพื่อเตือนใจว่าตนเป็นราชนิกุลหรือคนมีตระกูล ทุกวันนี้ สตรีในหมู่บ้านชาวอี๋เขตเวยซานต่างก็สวมใส่เครื่องแต่งกายสีสันสดใส สวยสะดุดตา โพกศีรษะด้วยผ้าคล้ายกลีบดอกไม้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังดำรงวิถีชีวิตและรักษาประเพณี รวมทั้งเทศกาลของราชวงศ์น่านเจ้าเสมือนตนเป็นผู้สืบสายราชสกุลเฉกเช่นในอดีต
——แม้ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรน่านเจ้าอาจถูกลืมเลือนไปบ้าง แต่อาณาจักรโบราณแห่งนี้เคยเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศิลปะ และการค้าระหว่างจีนตะวันตกเฉียงใต้กับอินเดีย ซึ่งยังคงมีร่องรอยหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน ดินแดนน่านเจ้าจึงกลายเป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมสามกระแสหลัก คือวัฒนธรรมอินเดีย วัฒนธรรมจงหยวนของชาวฮั่น และวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกันเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว
[1] จงหยวน ดินแดนอันเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญในความคิดของชาวจีนสมัยโบราณ มีที่ตั้งค่อนไปทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอหนาน (ตอนกลางและตอนปลายลุ่มแม่น้ำฮวงโห) ภาคตะวันตกของมณฑลซานตง ภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและมณฑลซานซี คำนี้มีความหมายโดยปริยายว่า ถิ่นศูนย์กลางอารยธรรมของจีน
[2] ราว 300 ปีก่อนค.ศ. จวงเชียว (莊蹻 ไม่ทราบปีที่เกิด–256 ปีก่อนค.ศ.) แม่ทัพรัฐฉู่เคลื่อนพลเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณทะเลสาบเตียนฉือ (滇池) แล้วสถาปนารัฐเตียน (滇國) เป็นการเปิดศักราชใหม่ด้วยการนำความเจริญจากจงหยวนเข้ามาสู่ดินแดนยูนนาน
[3] คำว่า “ยูนนาน” ในภาษาจีนแปลว่า “ดินแดนตอนใต้ของเมฆพรรณราย” (彩雲之南) หมายถึงดินแดนซึ่งตั้งอยู่ไกลโพ้นและเปี่ยมด้วยสีสันอันลึกลับซับซ้อน นับแต่จิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇帝 259–210 ปีก่อนค.ศ.) ผนวกรัฐใหญ่เล็กต่างๆ ไว้และสถาปนาราชวงศ์ฉิน (秦 221-207 ปีก่อนค.ศ.) เป็นต้นมา ยูนนาน ก็กลายเป็นดินแดนที่อยู่ในอำนาจปกครองของราชสำนักจีนโดยตลอด ยูนนานอยู่ห่างจงหยวน ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญมาก ขุนนางที่กระทำความผิดในสมัยโบราณจึงมักถูกลงโทษโดยการเนรเทศไปยังที่นี่