ชุมชนภาพยนตร์เฝิงเสี่ยวกัง

เรื่องโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา


ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

——ชุมชนภาพยนตร์เฝิงเสี่ยวกัง (冯小刚电影公社) สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2011 จากการร่วมทุนระหว่างผู้กำกับหนังเฝิงเสี่ยวกัง (冯小刚  ค.ศ. 1958–ปัจจุบัน) และบริษัทผลิตภาพยนตร์ Huayi Brothers Media Corporation (华谊兄弟) ตั้งอยู่ในเขตหลงหัว (龙华) มณฑลไหหลำ ภายในชุมชนประกอบไปด้วยสตูดิโอภาพยนตร์ รวมถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ควรค่าแก่การศึกษาและเยี่ยมชม พื้นที่บางส่วนในชุมชนยังได้รับการออกแบบให้เหมือนฉากจากภาพยนตร์เรื่อง “Back to 1942” 《一九四二》[1] ด้วย

ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

จุดเช็กอินที่น่าสนใจ

——1. โซนเจียงเฉิงเหยา (江城谣景区)

ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

——ภายในโซนประกอบด้วยสถาปัตยกรรมสวยงามทั้งหมด 93 หลัง เป็นสิ่งก่อสร้างที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่าง 4 เมืองใหญ่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (长江)[2] สะท้อนวิถีชีวิตและประเพณีของคนจีนในช่วงศตวรรษที่แล้ว พาผู้ชมย้อนเวลากลับยุคเก่าเมื่อ ค.ศ. 1920–1940 ซึ่งในนี้รวมสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่ 20 แห่งที่ได้รับการบูรณะใหม่ตามภาพเก่าๆ ที่เคยมี เช่น หอนาฬิกาซีซานอำเภอว่านแห่งฉงชิ่ง (重庆万县西山钟楼) โรงละครฉงชิ่งคาเธ่ย์ (重庆国泰剧院) โรงละครเซี่ยงไฮ้หรงกวง (上海融光大戏院), สำนักงานหนังสือพิมพ์ “ซินหัวเดลี่” (《新华日报》营业部) ร้านถ่ายภาพหวังไคเซี่ยงไฮ้ (上海王开照相馆)  จวนเหยาหลู (尧庐) บ้านพักของเจียงไคเช็ก อดีตผู้นำแดนมังกร อาคารสือคู่เหมิน (石库门) ที่มีลักษณะการก่อสร้างอันโดดเด่นในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของเซี่ยงไฮ้และอื่นๆ นอกจากนี้ ฉากถนนในเมืองฉงชิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “1942” ก็ตั้งอยู่ในโซนนี้ด้วยเช่นกัน

 

——2. โซนฟางหัว (芳华景区)

ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

——เคยเป็นสถานที่ถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “Youth”《芳华》โดยผู้กำกับเฝิงเสี่ยวกัง ออกฉายเมื่อช่วงตรุษจีน ค.ศ. 2017 โซนนี้สะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของศิลปะการทหารในช่วง ค.ศ. 1970 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เห็นได้จากกำแพงที่มีภาพเหมือนขนาดใหญ่ของท่านประธานเหมาเจ๋อตง (毛泽东 ค.ศ. 1893–1976) ติดอยู่ รวมถึงสำนักงานไปรษณีย์ หอพัก และสถานที่อื่นๆ เป็นต้น

 

——3. โซนวัฒนธรรมหนานหยาง (南洋潮景区)

ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

——ตั้งอยู่เลียบฝั่งแม่น้ำความยาว 300 เมตร พร้อมด้วยสิ่งก่อสร้างกว่า 65 แห่งที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบจีนและต่างประเทศเข้าไว้ด้วยกัน บรรยากาศรอบข้างเต็มไปด้วยกลิ่นอายของสังคมยุคเก่า มีท่าน้ำ หอระฆัง ซุ้มประตูจีน โรงเรียนศิลปะการต่อสู้และร้านรวงต่างๆ อาทิ โรงรับจำนำ ร้านขายเสื้อผ้าตะวันตก ร้านขายยา ร้านจับเลี้ยงหรือชาสมุนไพร ร้านขนมเปี๊ยะ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นการรักษาวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมหนานยาง (南洋) เอาไว้อย่างดี

 

——4. โซนตงฟางหง (东方红景区)

ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

——เป็นแหล่งรวมสถาปัตยกรรมแบบปักกิ่งตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1920–1970 ไว้ทั้งหมด 92 หลัง มีสถาปัตยกรรมยุคหมิงและชิงที่คงรูปแบบงานศิลปกรรมโบราณ เน้นลวดลายแกะสลักอย่างสวยงามประณีต และสถาปัตยกรรมสตาลิน (Stalinist architecture) ที่มีลักษณะใหญ่โตและดูน่าเกรงขาม รวมถึงสถาปัตยกรรมการสร้างบ้านพักอาศัยแบบล้อมลาน 4 ด้านตามหลักทฤษฎี “ความสมดุลทั้งสี่ทิศ” หรือที่เรียกกันว่าซื่อเหอย่วน (四合院) ทำให้ได้สัมผัสมนต์เสน่ห์บ้านเรือนของชาวกรุงปักกิ่งได้อย่างใกล้ชิด

 

——5. ถนนแห่งดวงดาว (影人星光大道)

ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

——เป็นทางเท้ายาวกว่า 200 เมตรที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้สองฟากฝั่ง จำลองรูปแบบมาจากฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟม (Hollywood Walk of Fame) และถนนซุปเปอร์สตาร์แห่งเกาะฮ่องกง (Avenue Of Stars) สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เหล่านักแสดง ผู้กำกับและบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์จีนและต่างประเทศ โดยตลอดทางมีแท่งหินอ่อนสูง 1.2 เมตรที่ตกแต่งด้วยสไตล์ฝรั่งเศส (Art Deco) มีรูปรอยมือและลายเซ็นของนักแสดงเกือบ 200 คน ไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

 

——6. จุดชมวิวเหม่ยเหรินพอ (美仁泊)

ภาพจาก https://www.missionhillschina.com/movietownhaikou/

——เป็นโซนที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมของหมู่บ้านสือซาน (石山 ภูเขาหิน)[3] ทั้งยังจำลองวิถีชีวิตของชาวท้องถิ่นซึ่งอาศัยในหมู่บ้านบริเวณภูเขาไฟได้อย่างงดงาม

 


[1] ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องความอดอยากครั้งใหญ่ในมณฑลเหอหนาน (河南) เมื่อ ค.ศ. 1942
[2] ประกอบด้วยเซี่ยงไฮ้ (上海) หนานจิง (南京) อู่ฮั่น (武汉) และฉงชิ่ง (重庆)
[3] หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไหโข่ว (海口) ในพื้นที่ภูเขาไฟ บ้านพักต่างๆ ถูกสร้างขึ้นจากก้อนหินที่นำมาจากภูเขาไฟ ก่อกำเนิดเป็นลักษณะของหมู่บ้านหินสีเทาที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แบบโบราณ ซึ่งประกอบด้วยบ้านเรือนหิน กำแพงหิน ซุ้มประตูหิน โรงสีหิน ครกหิน และแผ่นหิน มีประภาคารสูงใหญ่เป็นสัญลักษณ์ประจำพื้นที่ ผู้คนที่นี่ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นเลี้ยงชีพจนกลายเป็นวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ ทั้งการคั้นอ้อย การต้มน้ำตาลทรายแดง การทอผ้าเผ่าหลี (ชาติพันธุ์หลี 黎) และงานหัตถกรรมพื้นบ้านอื่นๆ