เมืองหลวงสำรองในประวัติศาสตร์จีน
—–‘เมืองหลวง’ หมายถึง เมืองที่เป็นที่ตั้งของรัฐบาลและเป็นศูนย์กลางการปกครองหรือความเจริญของประเทศ โดยทั่วไปแต่ละประเทศจะมีเมืองหลวงเพียงแห่งเดียว แต่สำหรับประเทศจีนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ผ่านการปกครองมาหลายราชวงศ์ แผ่นดินถูกผลัดเปลี่ยนอำนาจจากชนกลุ่มหนึ่งสู่ชนอีกกลุ่มหนึ่งหรือจากฝ่ายหนึ่งสู่อีกฝ่ายหนึ่งนับครั้งไม่ถ้วน ศูนย์กลางการปกครองและศูนย์กลางความเจริญจึงไม่ได้อยู่ที่เมืองหลวงเท่านั้น การก่อตั้งเมืองที่มีบทบาทคล้ายคลึงกับเมืองหลวง แต่มีความสำคัญรองลงมาจึงปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งส่วนใหญ่มีมูลเหตุจากการเมืองและความมั่นคง เมืองที่ก่อตั้งขึ้นในลักษณะนี้เรียกว่า ‘เมืองหลวงสำรอง’ หรือ ‘เมืองหลวงแห่งที่สอง’ (陪都 อ่านว่า เผยตู)
—–จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของจีน การก่อตั้งเมืองหลวงสำรองมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (西周) หรือเมื่อ 1,046 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะนั้น ราชธานีของราชวงศ์โจวตะวันตก คือ นครเฮ่าจิน (鎬京 ปัจจุบันตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของนครซีอาน) และได้ตั้งเมืองหลวงสำรองที่นครลั่วอี้ (洛邑 หรือ 雒邑 ปัจจุบัน คือ นครลั่วหยาง) นับจากนั้นเป็นระยะเวลา 3,000 กว่าปี แทบทุกราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีนสืบมาก็มักจัดตั้งเมืองหลวงสำรองไว้ สำหรับโยกย้ายโอนถ่ายอำนาจการปกครองเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นสำคัญ
—–‘มหานครฉงชิ่ง’ เคยเป็นเมืองหลวงสำรองของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง (国民党) ในช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่นและการทำสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้ประกาศให้มหานครฉงชิ่งเป็นเมืองหลวงสำรองอย่างเป็นทางการในช่วงปี ค.ศ.1940-1949 นับเป็นเมืองหลวงสำรองแห่งสุดท้ายของจีน
—–เมืองหลวงสำรองในประวัติศาสตร์จีน ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่มีความสำคัญอยู่ก่อนแล้ว นั่นคือ
- เป็นราชธานีของราชวงศ์ก่อนๆ
- เป็นภูมิลำเนาหรือถิ่นฐานดั้งเดิมของปฐมกษัตริย์
- เป็นฐานที่มั่นหรือฐานอำนาจเดิมของกษัตริย์ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์
- เป็นราชธานีในระยะแรกของการสถาปนาราชวงศ์
- เป็นเมืองที่กษัตริย์เคยนำทัพไปปราบศึก หรือเสด็จประทับอยู่ระยะหนึ่ง
- เป็นเมืองสำคัญด้านการปกครอง การทหาร หรือเศรษฐกิจ
- เป็นเมืองสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าราชธานีหรือนครหลวง