จักรพรรดิคังซี
กับ 5 กุศโลบายในการพัฒนาชาติจีน

เรื่องโดย หลินเหม่ยอัน


 

—–จักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ. 1654-1722) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1636-1912) เป็นโอรสของจักรพรรดิซุ่นจื้อ (順治 ค.ศ. 1638-1661) ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุเพียง 8 พรรษา หลังจากพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระองค์ก็อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระอัยยิกา (ย่า) จักรพรรดิคังซีมีพระปรีชาสามารถ และทรงฉายแววความเป็นผู้นำมาตั้งแต่ยังเยาว์ โปรดการเรียนรู้ศิลปะ วิทยาการต่างๆ ทั้งของในประเทศและต่างประเทศ พระองค์ทรงพัฒนาจีนยุคนั้นให้รุ่งเรือง เข้มแข็ง และยิ่งใหญ่ที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

—–ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมที่คอยบีบคั้นมาตั้งแต่ยังทรงเยาว์ จักรพรรดิคังซีจึงต้องคิดหาวิธีจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว แต่การปกครองแผ่นดินจีนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นจำเป็นต้องมีประสบการณ์และความชำนาญสูง พระองค์ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษเพื่อเปลี่ยนแปลงยุคแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายให้กลายเป็นยุคแห่งสันติสุข จะสังเกตได้ว่าจักรพรรดิคังซีประสบความสำเร็จหลายด้านในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งส่งผลให้จีนในยุคราชวงศ์ชิงรุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัด

จักรพรรดิคังซี

—–จักรพรรดิคังซีมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์จีนรวมถึงอารยธรรมโลก เพราะมีกุศโลบายการบริหารประเทศที่หลากหลาย แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. การปูรากฐานในการปักปันอาณาเขตของประเทศจีน
  2. การแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์และสร้างสมานฉันท์ภายในประเทศ
  3. การดำรงและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมจีน
  4. การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ
  5. สร้างสันติสุขให้แก่ราษฎรโดยการวางระเบียบสังคม

 

1. การปูรากฐานในการปักปันอาณาเขตของประเทศจีน

—–เมื่อเปรียบเทียบจากแผนที่อาณาเขตประเทศจีนและแผนที่เอเชียตะวันออกในสมัยราชวงศ์ชิง จะเห็นได้ชัดเจนว่าเกาะไต้หวันที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน เนื่องจากเกาะไต้หวันถูกชาวฮอลันดา (荷蘭人) เข้ามายึดครอง ใน ค.ศ. 1624 จักรพรรดิคังซีจึงถือโอกาสส่งทหารไปยึดเกาะไต้หวันกลับคืนมาใน ค.ศ 1683 ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือการปฏิรูปของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชได้สร้างรัสเซียให้เป็นรัฐที่ทันสมัยเยี่ยงอารยประเทศในยุโรปตะวันตก และแผ่อำนาจไปทางตะวันออก มีการทำสงครามกับราชวงศ์ชิงหลายครั้งที่เมืองหย่าเค่อซ่า (雅克薩) เรียกว่า ‘สงครามหย่าเค่อซ่า’ (雅克薩自衛反擊戰 ค.ศ. 1685-1688) หรือ ‘การปะทะทางชายแดนระหว่างรัสเซียกับราชวงศ์ชิง’ ต่อมาพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชยอมเจรจากับราชวงศ์ชิงเพื่อยุติความขัดแย้ง จักรพรรดิคังซีและคณะทูต นำโดยสั่วเอ๋อถู (索额图 ค.ศ. 1636-1703) เดินทางไปยังเมืองหนีปู้ฉู่ (尼布楚) เพื่อตกลงเรื่องเขตแดนกับรัสเซีย ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันทำสนธิสัญญาหนีปู้ฉู่ (中俄尼布楚條約) สำเร็จใน ค.ศ. 1689 ถือเป็นสนธิสัญญาที่มีความเสมอภาคฉบับแรกระหว่างราชวงศ์ชิงกับรัสเซีย สนธิสัญญาดังกล่าวมีทั้งหมด 3 ภาษา ได้แก่ ฉบับภาษาแมนจู ภาษารัสเซีย และภาษาละติน มีการกำหนดหลักเขตแดนทางตะวันออกระหว่างรัสเซียกับจีนอย่างชัดเจน เหตุการณ์ครั้งนี้ก็แสดงถึงความฉลาดหลักแหลมของจักรพรรดิคังซีในการแก้ปัญหารวมทั้งทักษะในการเจรจาทางการทูตที่ไม่ก่อให้เกิดการนองเลือด

—–นอกจากนี้ข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างจีนกับมองโกเลียทางเหนือที่คาราคาซังมาเนิ่นนาน เมื่อถึงรัชสมัยของจักรพรรดิคังซีก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้สำเร็จ โดยผูกมิตรกับชาวมองโกลที่อาศัยอยู่ทางเหนือแต่เดิมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ส่งอาวุธและกำลังพลไปช่วยรักษาชายแดนแถบนี้ให้เป็นพื้นที่กันชน เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาวรัสเซีย อีกทั้งทรงบัญชาการทัพเอง สงครามจบลงด้วยการสร้างสัมพันธไมตรี จีนยุคนี้จึงเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

2. การแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์และสร้างสมานฉันท์ภายในประเทศ

—–หลังจากยุติข้อพิพาทกับรัสเซียได้ จึงมีการแก้ไขและรวบรวมปัญหาของชาติพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลียว (遼河) จนถึงลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียง (黑龍江流域) ดังเช่นในกรณีชนเผ่าซงหนู (匈奴) ที่อาศัยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นชนเผ่าเก่าแก่อยู่แถบชายแดนของมองโกเลีย มักถูกชนชาติอื่นบุกรุกเสมอมา ปัญหานี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง แต่พอถึงสมัยราชวงศ์ชิงกลับมีวิธีจัดการที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทำให้ดินแดนจากทุรกันดารกลับมาเจริญ ส่วนชายแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ จักรพรรดิคังซีทรงช่วยส่งทหารไปปกครองโดยใช้วิธีประนีประนอมมากกว่าการใช้กำลังหรือความรุนแรง จนสามารถแก้ปัญหาชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้ได้สำเร็จ

 

3. การดำรงและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมจีน

—–ในขณะที่จักรพรรดิคังซีให้ความสำคัญกับการสืบทอดวัฒนธรรม พระองค์ก็ทรงกำหนดบทลงโทษขึ้นเพื่อควบคุมความคิดหรือโน้มน้าวจิตใจของเหล่าบัณฑิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การเมือง หรือกาพย์กลอนต่างๆ ในแง่คุณูปการด้านส่งเสริมวัฒนธรรม จักรพรรดิคังซีทรงให้ความสำคัญไว้หลายเรื่อง เช่น การศึกษาและวัฒนธรรม พระองค์กับเหล่าขุนนางอีก 28 คนเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียงพจนานุกรมภาษาจีน เรียกว่า พจนานุกรมคังซี《康熙字典》 ที่รวมอักษรจีนจำนวนกว่า 48,000 ตัวอักษร รวมถึงหนังสืออีกหลายเล่ม เช่น ฉวนถังซือ《全唐詩》เป็นหนังสือที่บันทึกบทกวีไว้ร่วม 5 หมื่นบทที่มาจากกวีกว่า 2,300 คน ทรงสนพระทัยเรื่องศิลปะโบราณและการสร้างอุทยาน ศิลปะด้านนี้จึงเฟื่องฟูอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์จีน พระองค์รับสั่งให้สร้างอุทยานต่างๆ เช่น พระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวน (圓明園) และพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน (頤和園) นอกจากนี้ยังส่งเสริมการศึกษา วัฒนธรรมตะวันตก รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ

พจนานุกรมคังซี ภาพจากเว็บไซต์ www.dpm.org.cn

พจนานุกรมคังซี ภาพจากเว็บไซต์ www.dpm.org.cn

 

4. การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจจีน

—–หลังจากกองทัพของแมนจูเข้ามายึดกรุงปักกิ่งจนสำเร็จ พวกหัวหน้าเหล่ากองทัพก็มีการทุจริตในรูปแบบต่างคนต่างยึดที่ดินไปครอง จนยากแก่การปกครองและบริหารบ้านเมือง ทั้งยังกระทำการต่างๆ โดยพลการอย่างไม่เป็นระบบระเบียบ จักรพรรดิคังซีจึงมีบัญชาให้ยุติการครอบครองพื้นที่ ทรงนำที่ดินรกร้างมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ โดยให้ความสำคัญแก่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น การทำนา การทอผ้า และทรงออกกฎให้รักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ในจีน ได้แก่ แม่น้ำหวงเหอ (黃河) แม่น้ำหวยเหอ (淮河) แม่น้ำหย่งติ้ง (永定河) รวมถึงแม่น้ำลำคลองอื่นๆ ทรงปรับปรุงจนได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่และได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม เศรษฐกิจในยุคจักรพรรดิคังซีจึงฟื้นตัวหลังจากตกต่ำมาเป็นเวลานาน

 

5. สร้างสันติสุขให้แก่ราษฎรโดยการวางระเบียบสังคม

—–ตั้งแต่ ค.ศ. 1638 หลังจากไต้หวันถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแล้ว แม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางสังคมและข้อพิพาททางชาติพันธุ์ แต่ช่วง 40 ปีหลังจากการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิคังซี ก็ไม่มีความวุ่นวายใดๆ สังคมในยุคจักรพรรดิคังซีมีความมั่นคงและสงบสุขมาก ที่สำคัญความขัดแย้งที่มีมานานเช่น เรื่องภาษี พระองค์ได้ลดอัตราภาษีที่ขูดรีดในท้องที่ต่างๆ และเลิกแนวการปกครองโหดร้ายที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ส่วนความขัดแย้งใหม่ๆ ก็ยังไม่ปรากฏในช่วงนั้น ดังเห็นได้จาก 3 สถานการณ์ที่บ่งบอกว่าสังคมในยุคนี้สงบร่มเย็นอย่างแท้จริง

—–5.1 ในหน้าประวัติศาสตร์จีนมีเพียงยุคจักรพรรดิคังซีเท่านั้น ตั้งแต่ ค.ศ. 1662-1723 ไม่มีการต่อสู้ครั้งสำคัญ ไม่มีการสังหาร ไม่มีความปั่นป่วนวุ่นวาย และไม่มีวิกฤตทางสังคมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ อย่างรุนแรง

—–5.2 จากหนังสือที่บันทึกกิจวัตรประจำวันของจักรพรรดิคังซี《康熙起居注》ได้ระบุไว้ว่าจำนวนประชาชนที่กระทำผิดจนต้องถูกประหารชีวิตมีน้อยลงมาก จาก 80 กว่าคน เหลือแค่  20-30 คน และใน 1 ปี มีเพียง 10 กว่าคนถูกตัดสินประหารชีวิต นี่แสดงให้เห็นว่าสังคมในเวลานั้นค่อนข้างมีสันติสุขและเสถียรภาพ

—–5.3 จักรพรรดิคังซีประพาสทั่วทุกทิศทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก และประพาสเพื่อพักผ่อนมากกว่า 100 ครั้ง แสดงถึงสังคมที่สงบสุข เนื่องจากในสมัยก่อนจักรพรรดิไม่สามารถไปไหนได้เลยหากสังคมยังคงวุ่นวาย

—–นอกจากนี้ เมื่อประเมินข้อมูลต่างๆ ในยุคจักรพรรดิคังซีจาก บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง 《清史稿》ณ เวลานั้นจีนถือเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ที่สุด มีกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุด เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ทรงพลังที่สุด และจักรพรรดิคังซีสามารถรวมชาติพันธุ์ต่างๆ ในแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ นี่แสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ ถือเป็นพรสวรรค์ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงรวบรวมภูมิปัญญา และวางรากฐานความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติได้ นี่คือบุคคลที่ใครๆ ก็ต่างสรรเสริญ จักรพรรดิคังซีนับเป็นบุคคลสำคัญผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ไม่แปลกใจที่ในยุคนั้นกลุ่มมิชชันนารีตะวันตกในราชสำนักของราชวงศ์ชิงยังยกย่องจักรพรรดิคังซีว่าเป็นจักรพรรดิแห่งวิทยาศาสตร์ และจักรพรรดิผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ

บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง เป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ชิง

—–ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับผู้นำในประวัติศาสตร์จีนหรือประวัติศาสตร์โลก อาจกล่าวได้ว่าจักรพรรดิคังซีเป็นหนึ่งในจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเท่าที่เคยมีมา