วรรณกรรมในสมัยราชวงศ์หมิง

เรื่องโดย ธนิกา


 

——ในสมัยราชวงศ์หมิง ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์คือ ฮ่องเต้หมิงไท่จู่ มีพระนามเดิมว่า “จูหยวนจาง”(明太祖朱元璋)ทรงได้รับบทเรียนจากความล้มเหลวในการบริหารของกษัตริย์ยุคราชวงศ์หยวน พระองค์จึงทรงเลือกใช้นโยบายลดหย่อนภาระของประชาชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศชาติ เป็นผลให้กิจการทางด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้น ประชาชนเริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีความต้องการสร้างและเสพศิลปะทางวรรณคดีอย่างแพร่หลาย นิยายชาวบ้าน(通俗小说)ซึ่งมีที่มาจากรูปแบบมุขปาฐะในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน(宋元时期)ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชน

——จากการที่เทคนิคการพิมพ์ได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ธุรกิจการพิมพ์นิยายเหล่านี้ก็เฟื่องฟูตามไปด้วย ตัวอย่างบทประพันธ์ที่โดดเด่นในยุคนี้ได้แก่ “สามก๊ก”《三国志演义》, “ซ้องกั๋ง”《水浒传》และ “ไซอิ๋ว”《西游记》เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่านิยายจีนคลาสสิกเรื่องยาวซึ่งมีการประพันธ์ตามแบบบทละครพื้นเมืองที่เล่าต่อกันมา และเรื่องเล่าตามประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนนั้น มีการพัฒนาในระดับที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด

สามก๊ก 《三国志演义》

ลักษณะของบทประพันธ์เรื่องยาวสมัยราชวงศ์หมิง แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ดังนี้

——1. นิยายอิงประวัติศาสตร์(讲史小说) ซึ่งแบ่งรูปแบบออกเป็นสองประเภทย่อย ได้แก่

——1.1 ประเภทบรรยายประวัติศาสตร์(历史讲义)เรื่องที่มีชื่อเสียงได้แก่ “สามก๊ก” 《三国志演义》ประพันธ์โดย หลัวก้วนจง(罗贯中)เนื้อหาอิงเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ประมาณร้อยละ 70 และส่วนที่เหลือเป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์เสริมขึ้น กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองและตกต่ำของวุยก๊ก(魏)จ๊กก๊ก(蜀)และง่อก๊ก(吴)รวมสามก๊กตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งยังสอดแทรกการต่อสู้ทางการปกครอง การทหารและการทูต ถ่ายทอดผ่านตัวละครต่างๆ มากมาย ตัวละครหลักได้แก่ โจโฉ(曹操)กวนอู(关羽)ขงเบ้ง(孔明)และเตียวหุย(张飞)

——1.2 ประเภทตำนานวีรบุรุษ(英雄传奇)นิยายประเภทนี้ก็เป็นนิยายที่แต่งขึ้นบนพื้นฐานของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เช่นกัน แต่จะบรรยายถึงวีรบุรุษหรือตัวบุคคลเป็นหลัก คือให้ความสำคัญกับบุคคลเพียงคนเดียว หรือบุคคลจำนวนไม่กี่คนซึ่งเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง บทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ “ซ้องกั๋ง”《水浒传》กล่าวกันว่าประพันธ์โดย ซือไน่อัน(施耐庵)เป็นนิยายเรื่องยาวเกี่ยวกับการปฏิวัติชาวนา(农民起义)ซึ่งนำโดยซ้องกั๋ง(宋江)เหตุการณ์เกิดในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ(北宋末年)เรื่องราวส่วนที่อิงประวัติศาสตร์จะน้อยกว่าสามก๊ก อย่างเช่นในจำนวน 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานที่เข้าร่วมการปฏิวัติ มีเพียงจำนวนไม่กี่คนที่มีจริงในประวัติศาสตร์ นอกนั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นตัวละครที่แต่งเสริมขึ้นมาทั้งสิ้น เรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ในกองทัพปฏิวัติชาวนาตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงประกาศนิรโทษกรรม กระทั่งจุดจบอันเป็นโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงความชั่วร้าย ความโหดร้ายทารุณของชนชั้นปกครองในระบอบศักดินา

 

——2. นิยายประเภทผีสางเทวดา(神鬼小说)นิยายประเภทนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าเทพเทวา และภูตผีปีศาจ เต็มไปด้วยจินตนาการที่แปลกประหลาด ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า นิยายเรื่องยอดนิยมที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ “ไซอิ๋ว”《西游记》โดยนักประพันธ์คือ อู๋เฉิงเอิน(吴承恩)ได้บรรยายสิ่งที่เขารับรู้จากสภาพสังคมจริงในสมัยนั้นร่วมกับจินตนาการและความเชื่อในสิ่งแปลกประหลาดส่วนตัว เนื้อหาหลักเป็นเรื่องราวของภิกษุนามพระถังซำจั๋งไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีป ตัวละครเด่นคือ “ซุนหงอคง”(孙悟空)ซึ่งมีลักษณะเด่นในการกล้าที่จะต่อสู้ ไม่กลัวความลำบาก มุทะลุและมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ถือเป็นลักษณะนิสัยในอุดมคติที่ชาวบ้านต่างใฝ่ฝันหรือต้องการมีเพื่อเอาชนะอำนาจมืดทั้งจากธรรมชาติและจากสังคมอันโหดร้ายทารุณที่เป็นจริงในขณะนั้น

ไซอิ๋ว《西游记》

——3. นิยายประเภทสะท้อนสังคม(世情小说)นิยายประเภทนี้โดยมากเขียนจากสภาพสังคมที่เป็นจริง นิยายเด่นของประเภทนี้ได้แก่ “บุปผาในกุณฑีทอง”《金瓶梅》สำหรับผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ไม่พบบันทึกที่แน่ชัด ทราบกันว่าเป็นบุคคลผู้ใช้นามปากกาว่า “หลันหลิงเซี่ยวเซี่ยวเซิง” (兰陵笑笑生)เขียนพรรณนาให้เห็นภาพความเน่าเฟะ มั่วโลกีย์ของชนชั้นปกครองและความเลวร้ายของสังคมในสมัยราชวงศ์หมิง นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายที่แหวกแนวบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์ที่มีมาแต่เดิม โดยเขียนบรรยายสภาพรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไป ถือเป็นนิยายอีกเรื่องที่มีความหมายสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์การพัฒนาบทประพันธ์ประเภทนิยายของประเทศจีน

——4. นิยายประเภทคดีความ(公案小说)คือนิยายเกี่ยวกับคดีความที่เขียนถึงการถูกปรักปรำ ถูกจองจำและถูกลงโทษจากการตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม เฟื่องฟูมากในช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง เหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากอำนาจมืดในการปกครองและสภาพสังคมที่เน่าเฟะในช่วงตอนปลายราชวงศ์หมิงนั่นเอง ในนิยายประเภทนี้จะเน้นบรรยายให้เห็นสภาพสังคมที่เลวร้ายและความคับแค้นใจของชาวบ้าน เมื่อเนื้อหาของนิยายเข้าถึงจิตใจชาวบ้านทั่วไป จึงทำให้ได้รับความนิยมแพร่หลาย ตัวอย่างเรื่องที่โดดเด่นคือ “เปาบุ้นจิ้น”《包公案》และ “ซือกง” 《施公案》เป็นต้น