เทพเจ้าแห่งโชคลาภ
เรื่องโดย อาเหล่าเจ็ก
—–เทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามไฉ่สิ่งเอี๊ย (财神爷) เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวจีนกราบไหว้บูชามาแต่โบราณกาล เชื่อกันว่ามีอิทธิฤทธิ์ช่วยดลบันดาลเงินทองและโชคลาภ ดังนั้นจึงเป็นเทพที่นิยมอย่างมากในหมู่พ่อค้าผู้ประกอบการ เห็นได้จากบริษัทห้างร้านต่างตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าแห่งโชคลาภไว้ในสำนักงานหรือหน้าร้าน และจัดพิธีเซ่นไหว้อย่างใหญ่โตในวันคล้ายวันประสูติ ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่งเสริมให้ธุรกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง หน้าที่การงานสำเร็จลุล่วง
—–ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าแห่งโชคลาภเริ่มต้นจากกลุ่มพ่อค้าที่ประสบปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่บ่อยครั้ง เช่น ถูกคดโกง ถูกโจรปล้น ตลอดจนสินค้าเสียหายทำให้ขาดทุน อำนาจเหนือธรรมชาติจึงกลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วยสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้าขาย หลังจากนั้นในแต่ละท้องถิ่นต่างปรากฏเทพเจ้าแห่งโชคลาภขึ้นมากมายตามคติความเชื่อของตน ซึ่งพอจำแนกได้เป็น 2 ฝ่ายหลักๆ คือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบู๊ (武财神) และเทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบุ๋น (文财神)
เทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบู๊
—–เทพเจ้าฝ่ายบู๊ คือเทพฝ่ายขุนพลผู้เป็นเลิศด้านวิทยายุทธ์ ลักษณะของเทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบู๊ที่พบเห็นได้บ่อยคือ ใบหน้ามีสีดำหรือแดง ดวงตาเบิกโพลงดุดัน หนวดเครายาวรุงรัง สวมชุดเกราะทหาร มีเสือเป็นพาหนะคู่กาย มือข้างหนึ่งถือแส้เหล็ก หมายถึงการป้องกันอันตราย ส่วนมืออีกข้างถือก้อนทองหรือกระถางใส่ทอง หมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบู๊ที่รู้จักและนับถือกันอย่างแพร่หลายคือ เตียวกงเบ๋ง (赵公明)

เตียวกงเบ๋ง | ภาพจาก www.dili360.com
—–เตียวกงเบ๋ง หรือเจ้ากงหมิง (趙公明) ในภาษาจีนกลาง เป็นเทพเจ้าในความเชื่อของลัทธิเต๋า ไม่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีน ตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของเทพเตียวกงเบ๋งมีมากมาย ณ ที่นี้ขอกล่าวถึงตำนานที่ปรากฏในพงศาวดารห้องสิน[1] บทที่ 46 ดังนี้
—–ในช่วงปลายราชวงศ์ซาง (商 1600-1046 ปีก่อนคริสตกาล) ติวอ๋อง (纣王) กษัตริย์แห่งรัฐซางในสมัยนั้นไม่สนพระทัยราชกิจทำให้บ้านเมืองเสื่อมโทรม กองทัพอ่อนแอ ขณะเดียวกัน หัวเมืองเล็กๆ ทางฝั่งตะวันตก นามว่าเมืองไซรกี (西岐) มีกำลังทหารแข็งแกร่งขึ้น จิวบู๊อ๋อง (周武王) เจ้าครองนครไซรกีในขณะนั้นจึงรวบรวมไพร่พลเข้าโจมตีราชสำนักซาง เมื่อติวอ๋องทราบข่าวจึงเสด็จไปขอความช่วยเหลือจากเตียวกงเบ๋งที่บำเพ็ญพรตอยู่ที่เขาง้อไบ๊มาร่วมรบ เตียวกงเบ๋งรู้ดีว่าติวอ๋องไม่ใช่ผู้ปกครองที่ดีนัก แต่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง เขาก็มิอาจละเลยหน้าที่ปกป้องแคว้นบ้านเกิดได้ จึงตัดสินใจร่วมมือเปิดฉากปะทะกับกองทัพเมืองไซรกี แม้เตียวกงเบ๋งจะเป็นนักรบฝีมือดีและมีอิทธิฤทธิ์มาก แต่สุดท้ายก็พลาดท่าเสียทีให้กับเกียงจูแหย (姜子牙) ยอดนักยุทธศาสตร์ผู้เก่งกาจแห่งเมืองไซรกี ซึ่งใช้ธนูอาคมยิงดวงตาทั้งสองข้างของเตียวกงเบ๋งจนตาบอดและเสียชีวิตลงในที่สุด หลังจากนั้นไม่นานกองทัพของบู๊อ๋องก็โค่นล้มราชวงศ์ซางสำเร็จและสถาปนาราชวงศ์โจว (周 1046-256 ปีก่อนคริสตกาล)
—–เนื่องจากขณะมีชีวิตอยู่เตียวกงเบ๋งเป็นนักรบผู้ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ และการสูญเสียดวงตาทั้ง 2 ข้างทำให้เขาไม่เห็น ‘ทรัพย์’ อยู่ในสายตา เมื่อถึงวาระแต่งตั้งเทพเจ้าบนสวรรค์เตียวกงเบ๋งจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเทพผู้คุ้มกันภยันตรายทั้งปวงและเป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ บริหารจัดการทรัพย์ด้วยความยุติธรรม
—–นอกจากนี้ เตียวกงเบ๋งยังมีเทพบริวารอีก 4 องค์ คือ เทพเซียวเซิง (萧升) เทพแห่งการเรียกของวิเศษ เทพเฉาเป่า (曹宝) เทพแห่งการรวมสิ่งล้ำค่า เทพเฉินจิ่วกง (陈久公) เทพแห่งการเรียกทรัพย์สิน และเทพเหยาเส้าซือ (姚少司) เทพแห่งการค้าขาย ต่อมาจึงได้เรียกเทพทั้งสี่องค์นี้รวมกับเตียวกงเบ๋งว่า เทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งห้า (五路财神)

เทพเจ้าโชคลาภทั้งห้า | ภาพจาก www.sohu.com
เทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบุ๋น
—–เทพเจ้าฝ่ายบุ๋น คือเทพฝ่ายขุนนางผู้เป็นเลิศทางสติปัญญา มีความเที่ยงธรรม ลักษณะของเทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบุ๋นที่พบเห็นบ่อยคือ แต่งกายด้วยชุดลายมังกร สวมหมวกขุนนางสมัยโบราณ ประทับบนเก้าอี้มังกร หนวดเครายาว หน้าตายิ้มแย้ม ดูใจดีมีเมตตา มือข้างหนึ่งถือคทาหรูอี้ (如意) หมายถึงการอวยพรให้สมปรารถนา มืออีกข้างถือก้อนทองซึ่งหมายถึงการอวยพรให้มั่งคั่งร่ำรวย เทพเจ้าแห่งโชคลาภฝ่ายบุ๋นนั้นมีหลากหลายตำนาน แต่องค์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ เทพปี่กัน (比干) ซึ่งมีเรื่องราวบันทึกไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้《史记》ดังนี้

เทพปี่กัน | ภาพจากหนังสือ《封神真形圖》สมัยราชวงศ์ชิง
—–ปี่กัน คือปูชนียบุคคลของจีนที่มีชีวิตอยู่จริงในยุคราชวงศ์ซาง มีศักดิ์เป็นพระเจ้าอาของติวอ๋อง กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซาง ปี่กันเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา มีคุณธรรม ขยันหมั่นเพียร และรักชาติบ้านเมือง ในช่วงปลายราชวงศ์ ติวอ๋อง (紂王) ไม่ดำรงตนอยู่ในทศพิธราชธรรม หนำซ้ำยังเหี้ยมโหดทารุณ ลุ่มหลงในกามโลกีย์ และรีดนาทาเร้นเก็บภาษีจนประชาชนได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า ขุนนางหลายคนเคยทูลตักเตือนพระเจ้าติวอ๋องให้สนพระทัยในราชกิจ ทว่าบ้างกลับถูกสั่งจองจำ บ้างก็โดนประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม จากนั้นจึงไม่มีใครกล้าทูลเตือนอีก
—–ท่ามกลางความเดือดร้อนของราษฎรและความหวาดกลัวของเหล่าขุนนาง ปี่กันไม่อาจทนเห็นหลานชายเป็นทรราชได้ จึงเข้าเฝ้าเพื่อทูลตักเตือนติวอ๋องเป็นเวลาสามวันสามคืนต่อเนื่องไม่ยอมกลับ ซึ่งสร้างความไม่พอพระทัยให้แก่ติวอ๋องเป็นอย่างยิ่ง จนคิดจะสังหารปี่กันเสีย ติวอ๋องจึงตรัสกับปี่กันว่า “กล่าวกันว่านักปราชญ์มีหัวใจทั้งหมดเจ็ดห้อง เราสงสัยนักว่าจริงหรือไม่” จากนั้นจึงมีพระบัญชาให้ทหารควักหัวใจของปี่กันออกมาเพื่อพิสูจน์ ปี่กันจึงสิ้นชีวิตลง หลังจากราชสำนักซางสูญเสียขุนนางผู้ภักดีอย่างปี่กันไปไม่นาน กองทัพซางก็ต้องพ่ายสงครามให้แก่กองทัพเมืองไซรกี ถือเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ซางตั้งแต่บัดนั้นมา
—–ขณะมีชีวิตอยู่ ปี่กันเป็นขุนนางผู้เปี่ยมด้วยความซื่อสัตย์ และอุทิศตนให้แก่ชาติบ้านเมือง อีกทั้งตอนตายเขาก็ตายโดยปราศจากหัวใจ นั่นหมายถึงการไม่มีจิตเลือกที่รักมักที่ชังและไร้ความโลภ ด้วยความเที่ยงตรงยุติธรรมนี่เอง ปี่กันจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ
การบูชาเทพเจ้าแห่งโชคลาภ
—–เมื่อถึงวันคล้ายวันประสูติของเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ประชาชนจะจัดพิธีบูชาเทพเจ้าอย่างยิ่งใหญ่ แต่เนื่องจากเทพเจ้าแห่งโชคลาภมีหลายองค์ ดังนั้นวันที่จัดพิธีบูชาเทพเจ้าจึงแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม วันที่ได้รับความนิยมมีทั้งสิ้น 3 วันคือ (1) วันที่ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินแบบจีนหรือคืนก่อนวันตรุษจีน) ซึ่งเชื่อกันว่าในคืนดังกล่าวเทพเจ้าจะเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์เพื่อประทานโชคลาภ (2) วันประสูติของเทพเตียวกงเบ๋ง ตรงกับวันที่ 5 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน (3) วันประสูติของเทพปี่กัน ตรงกับวันที่ 22 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน
—–สำหรับของเซ่นไหว้ แม้จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่มีองค์ประกอบหลักๆ คล้ายกันคือ น้ำหรือน้ำชา ขนมอี๋[2]ผลไม้จำนวน 3 หรือ 5 หรือ 7 ชนิดก็ได้ อาหารเจ 5 อย่าง ขนมจันอับ และกระดาษเซ่นไหว้ สิ่งที่ห้ามไหว้คือ เนื้อสัตว์เพราะถือเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (แม้มีบางท้องถิ่นที่ไหว้เทพเตียวกงเบ๋งด้วยเนื้อสัตว์และสุราเพราะเห็นว่าท่านเป็นเทพฝ่ายบู๊ ท่าทางดุดัน อาจจะโปรดปรานการกินเนื้อและเหล้า แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมนัก)
—–การไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภจะสมบรูณ์ได้ต้องรู้องค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ (1) รู้ฟ้า คือรู้เวลาอันสมควร รู้ฤกษ์ยามของแต่ละปี (2) รู้ดิน คือรู้สถานที่และทิศทางที่เทพเจ้าเสด็จลงมาประทานโชคลาภ (3) รู้คน คือรู้ลำดับผู้ไหว้ ไม่ควรให้คนที่เกิดปีชงในปีนั้นเป็นคนไหว้คนแรก เพราะเชื่อกันว่าจะส่งผลไม่ดีต่อผู้ไหว้เอง
เทพเจ้าแห่งโชคลาภองค์อื่นๆ
—–นอกจากตำนานของเทพปี่กัน และเทพเตียวกงเบ๋งแล้ว ยังมีตำนานความเชื่อของเทพเจ้าแห่งโชคลาภอีกมากมาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นฝ่ายลัทธิเต๋าและพุทธศาสนานิกายมหายาน ดังนี้
ลัทธิเต๋า :
- เทพฟั่นหลี่ (范蠡) อดีตขุนนางผู้ซื่อสัตย์ที่หันมาทำการค้าจนร่ำรวย และแจกจ่ายเงินทองให้แก่ผู้ยากไร้ ชาวบ้านจึงยกย่องให้ฟั่นหลี่เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภของผู้ยากไร้ และเทพแห่งการค้า
- เทพกวนอู (关羽) เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ จึงเกิดความเชื่อที่ว่า เมื่อบูชาเทพกวนอูแล้วธุรกิจการค้าจะราบรื่น ไม่ถูกคดโกง ด้วยเหตุนี้เองเทพกวนอูจึงเป็นที่นิยมในหมู่นักธุรกิจโดยเฉพาะชาวฮ่องกง
- เจ้าที่แป๊ะกง (伯公) เป็นเทพผู้รักษาผืนแผ่นดิน ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งโชคลาภของเกษตรกร เชื่อกันว่าช่วยปกป้องพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ให้เสียหายและได้ผลผลิตงอกงาม ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวแต้จิ๋วและชาวไต้หวัน
ศาสนาพุทธนิกายมหายาน :
- ท้าวกุเวร (多闻天王) พระเศรษฐีชัมภาลา หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามท้าวเวสสุวรรณ เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทำหน้าที่ปกครองยักษ์ และเป็นเทพแห่งความมั่งมี ส่วนใหญ่นับถือกันในทิเบต
- พระศรีอริยเมตไตรย (弥勒菩萨) พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาและความมั่งคั่ง ชาวจีนยกย่องให้เป็นฟู่กุ้ยฝอ (富贵佛) หมายถึงพระผู้มั่งคั่งและสูงศักดิ์ บรรดาพ่อค้ามักตั้งแท่นบูชาไว้หน้าร้านเพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ค้าขายดี ส่วนในประเทศไทยพบการบูชาเช่นกัน แต่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นองค์เดียวกับพระสังกัจจายน์[3]

พระศรีอริยเมตไตรย | ภาพจาก www.baifodian.com
—–การตายอย่างไร้หัวใจของปี่กันแสดงให้เห็นถึงการไม่มีความโลภและไม่เลือกที่รักมักที่ชัง การสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างของเตียวกงเบ๋งสื่อถึงการที่เขาไม่เห็นทรัพย์อยู่ในสายตา แม้ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าแห่งโชคลาภจะมีด้วยกันหลายองค์แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่สิ่งที่เหมือนกันคือคุณธรรมเรื่องความยุติธรรม กล่าวคือเทพเจ้าจะมอบพรศักดิ์สิทธิ์นี้ให้แก่ผู้มุ่งมั่นประกอบสัมมาอาชีพ ไม่คล้อยตามไปกับสินบน ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ในความเชื่อที่ดูเหมือนงมงาย แท้จริงแล้วกลับแฝงไว้ด้วยความจริงของหลักกฎแห่งกรรม… เพราะความสำเร็จในอาชีพเกิดจากความขยันหมั่นเพียร หาได้เกิดจากการติดสินบนเทพเจ้าด้วยการจัดพิธีบูชาใหญ่โต หรือการตั้งเครื่องเซ่นไหว้ราคาแพงแต่อย่างใด
[1] พงศาวดารห้องสิน《封神演义》บางตำราเรียกว่า《封神榜》《封神传》《商周列国全传》หรือ《武王伐纣外史》แต่งขึ้นสมัยราชวงศ์หมิง พิมพ์ครั้งแรกราวปี ค.ศ. 1550 จัดอยู่ในประเภทนิยายแนวอิทธิปาฏิหาริย์ กล่าวถึงตำนานการสถาปนาเทพเจ้าจีน เนื้อหาภายในแบ่งเป็นตอนๆ รวมทั้งสิ้น 100 ตอน
[2] ชื่อขนมของจีนชนิดหนึ่ง ทําจากแป้งข้าวเจ้าปั้นเป็นลูกกลมๆ ต้มจนสุกแล้วใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำขิง คนไทยรู้จักกันในชื่อขนมบัวลอยจีน
[3] พระสังกัจจายน์ หรือพระมหากัจจายนะเถระ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า นับเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ รูปลักษณ์ภายนอกคล้ายคลึงกับพระศรีอริยเมตไตรย ทว่าทั้งสององค์มีจุดแตกต่างกันดังนี้
– พระสังกัจจายน์มีขมวดผมแบบเม็ดพระศกบนศีรษะ ส่วนพระศรีอริยเมตไตรยไม่มีเม็ดพระศก (พระเศียรเกลี้ยง)
– พระสังกัจจายน์ห่มจีวรเฉียง มีสังฆาฏิพาดไหล่แบบเดียวกับพระพุทธรูปในนิกายเถรวาท ส่วนพระศรีอริยเมตไตรยครองจีวรเปิดด้านหน้าให้เห็นพระนาภี (สะดือ) และมักมีเด็กเล็กๆ อยู่ร่วมด้วย